วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ถาม
ปีงบประมาณ 2553 เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ยังคงจัดสรรให้โรงเรียนหรือไม่ เนื่องจากโรงเรียนได้รับเงินโครงการนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ซึ่งมีรายการที่ซ้ำกัน เช่น ค่าหนังสือ และจะนำเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานไปซื้อหนังสือห้องสมุดได้หรือไม่
ตอบ
ยังคงจัดสรรให้เหมือนเดิม เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนให้ได้รับเพิ่มจากโครงการนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ โดยการใช้จ่ายให้ถือปฏิบัติตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ ศธ 04006/2279 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2548 เรื่องหลักเกณฑ์การใช้จ่ายงบประมาณ งบเงินอุดหนุน กล่าวคือ ให้ถัวจ่ายได้ใน 4 รายการ(ค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน ค่าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายนักเรียน ค่าอาหารกลางวัน และค่าพาหนะในการเดินทาง)
ถาม
ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เบิกค่าตอบแทนวิทยากรได้หรือไม่
ตอบตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้การจ่ายค่าสมนาคุณวิทยากร กรณีวิทยากรสังกัดหน่วยงานเดียวกับส่วนราชการผู้จัดฝึกอบรม ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้มีหน้าที่ ให้คำปรึกษาแนะนำ หรือลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติเป็นปกติประจำจะต้องทำหน้าที่เป็นวิทยากร แต่เนื่องจากระเบียบดังกล่าว ได้ถูกยกเลิกโดยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 ดังนั้นจึงสามารถเบิกค่าสมนาคุณวิทยากรได้ ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าส่วนราชการ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่ระเบียบฯ กำหนดไว้

วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ทฤษฎีภาวะผู้นำแบบ Hersey and Blanchard ‘s Situation Leadership Theory

ทฤษฎีนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ประกอบ 3 ประการ คือ
1.จำนวนปริมาณของคำสั่ง (พฤติกรรมด้านงาน) ที่ผู้นำแสดงออกในแต่ละสถานการณ์ เป็นขั้นตอนพฤติกรรมที่ผู้นำเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยการสื่อความหมายทางเดียว โดยอธิบายว่า อะไรที่ผู้ตามจะกระทำ จะทำเมื่อไร ทำที่ไหน และทำอย่างไร เพื่อให้งานในหน้าที่ได้รับผลสำเร็จ
2.จำนวนปริมาณของการสนับสนุนทางอารมณ์สังคม (พฤติกรรมด้านมนุษยสัมพันธ์) ที่ผู้นำกำหนดในแต่ละสถานการณ์ เป็นขั้นพฤติกรรมที่ผู้นำเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยการสื่อความหมายสองทาง โดยการให้การสนับสนุนด้านอารมณ์สังคม การให้กำลังใจ การจูงใจ และพฤติกรรมที่เอื้ออำนวยความสะดวกต่าง ๆ
3.ระดับความพร้อม ของผู้ตามหรือกลุ่มที่แสดงออกในการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ หรือวัตถุประสงค์ ซึ่งผู้นำพยายามให้ผู้ตามกระทำให้สำเร็จ มโนทัศน์นี้ได้พัฒนาเพื่อช่วยให้ผู้ที่แสดงภาวะผู้นำในการติดต่อประจำวันกับผู้อื่น ให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น โดยไม่คำนึงว่าบทบาทของเขาเป็นอย่างไร ช่วยให้ผู้นำมีความเข้าใจเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างสไตล์ภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผล และระดับวุฒิภาวะของผู้ตาม
ทฤษฎีภาวะผู้นำตามสถานการณ์ (situation leadership theory)
ของ Hersey & Blanchard ( เฮอร์เซย์และบลันชาร์ด) จัดกลุ่มคน ไว้ 4 กลุ่ม ดังนี้
1. M1 (บัวใต้น้ำ) เป็นพวกไม่ค่อยมีความรู้ความสามารถ ขาดความเต็มใจในการทำงาน ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ วุฒิภาวะต่ำ การบริหารคนกลุ่มนี้ต้องใช้แบบของการสั่ง บอกทุกอย่าง ( Telling ) เป็นลักษณะที่ผู้นำชี้แจงบทบาท และสั่งผู้ตามว่าให้ทำงานอะไร อย่างไร เมื่อไร และที่ไหน มากกว่าที่จะใช้เวลาไปให้การสนับสนุนทางอารมณ์ สังคม หรือการให้กำลังใจ
2. M2 (บัวกลางน้ำ) คนกลุ่มนี้มีวุฒิภาวะต่ำถึงปานกลางมีความรู้ความสามารถไม่มากนัก แต่มีความเต็มใจในการทำงาน รับผิดชอบงานเป็นผู้ที่มั่นใจแต่ขาดความชำนาญ การบริหารคนกลุ่มนี้ต้องใช้แบบการขายความคิด ( Selling ) ผู้นำ พยายามใช้การสื่อสารสองทาง มีการอธิบาย การรับฟังอย่างสนใจ ให้การสนับสนุนทางอารมณ์ สังคม การให้กำลังใจใช้วิธีการทางจิตวิทยาให้ผู้ตามเห็นด้วยกับการตัดสินใจของผู้นำ
3. M3 (บัวปริ่มน้ำ) คนกลุ่มนี้มีวุฒิภาวะปานกลางถึงสูง จะทำงานตามที่ผู้นำต้องการ ผู้นำต้องมีการสื่อสารสองทางและรับฟังอย่างสนใจ เพื่อสนับสนุนผู้ตามให้พยายามใช้ความสามารถที่มีอยู่ ให้การสนับสนุน ไม่ออกคำสั่ง ผู้นำและผู้ตามร่วมกัน ในการตัดสินใจ การบริหารคนกลุ่มนี้เน้นการทำงานแบบการมีส่วนร่วม ( Participating )
4. M4 (บัวพ้นน้ำ) คนกลุ่มนี้มีวุฒิภาวะสูงมีความรู้ความสามารถมีความเต็มใจและมั่นใจในการปฏิบัติงานมีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย การบริหารคนกลุ่มนี้ใช้รูปแบบการมอบหมายงานให้ทำ/มอบอำนาจในการตัดสินใจ (Delegating) ซึ่งกำหนดคำแนะนำและการสนับสนุนเล็ก ๆ น้อย ๆ ความน่าจะเป็นไปได้ด้านประสิทธิผลอยู่ในระดับสูงสุด ผู้ตามก็ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแสดงเอง และตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติเมื่อไร และปฏิบัติที่ไหนได้เอง ขณะเดียวกันผู้ตามเหล่านี้บรรลุวุฒิภาวะด้านจิตวิทยา ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องมีการสื่อสารสองทาง

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

** ข้อความ **

1. ท้อแท้กับปัญหามากมายทำอย่างไรดี?
ปลาที่ยังเป็นอยู่ ล้วนเรียนรู้ที่จะว่ายทวนน้ำ
ส่วนปลาตาย มักไหลตามน้ำ
ปัญหาทำให้คนธรรมดาท้อ แต่ทำให้คนมีปัญญาลุกขึ้นมาแก้ไข
2. โกรธ! ถูกเพื่อนนินทา?
โบราณว่าไม่มีใครเตะหมาที่ตายแล้ว
คุณถูกนินทาแสดงว่าคุณยังมีความหมาย
คุณเป็นคนโชคดี จู่ๆ ก็มีกระจกวิเศษสะท้อนความอัปลักษณ์
ให้เห็นความบกพร่องของตัวเอง
3 ถูกนายด่า อารมณ์เสีย?
คนที่ด่าคนอื่นสะท้อนว่าระบบข้างในกำลังพัง
คนอารมณ์เสียเพราะถูกด่า
แสดงว่าระบบของตัวเองก็พังตามไปด้วย
4 สวดมนต์บทไหนดี?
(๑) สวดพุทธคุณเพื่อเตือนว่า จงเป็นผู้ตื่น
(๒) สวดธรรมคุณเพื่อเตือนว่า จงเว้นสิ่งที่ควรเว้น จงทำสิ่งที่ควรทำ
(๓) สวดสังฆคุณ เพื่อเตือนว่า พระอรหันต์ที่แท้
คือพ่อกับแม่ที่อยู่ในบ้านของเรานั่นเอง

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

*** ข้อสังเกต 15 จุดอันตราย ***

1. การแบ่งซื้อ/แบ่งจ้าง
-พัสดุประเภทเดียวกัน
- มีความต้องการใช้ในระยะเวลาเดียวกัน
- ควรจัดหาในคราวเดียวกัน
- เจตนา
การแบ่งซื้อ/แบ่งจ้าง โดยลดวงเงิน หรือใช้วิธีการจัดซื้อ/จัดจ้างเปลี่ยนไปเป็นวิธีสำหรับวงเงินที่ต่ำกว่า หรือทำให้อำนาจการสั่งซื้อ/สั่งจ้างเปลี่ยนไป อันเป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ/ผู้เกี่ยวข้อง
2. การแต่งตั้งคณะกรรมการ
ตามระเบียบฯ ข้อ 35 คณะกรรมการตาม ข้อ 34 แต่ละคณะให้ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และ กรรมการอย่างน้อย 2 คน โดยปกติให้แต่งตั้งจากข้าราชการตั้งแต่ระดับ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป ในกรณี จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการ จะแต่งตั้งบุคคลที่มิใช่ข้าราชการ ร่วมเป็นกรรมการด้วยก็ได้ ถ้าประธานกรรมการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้หัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งข้าราชการที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น ทำหน้าที่ประธานกรรมการแทน คณะกรรมการทุกคณะ เว้นแต่ คณะกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคา ควรแต่งตั้งผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับพัสดุหรืองานจ้างนั้น ๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย
3. วงเงินเท่าไหร่ ควรแต่งตั้งกรรมการกี่คน
ตามระเบียบฯ ข้อ 35 วรรคห้า สำหรับการซื้อหรือการจ้างในวงเงินไม่เกิน 10,000.-บาทจะแต่งตั้ง ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำคนหนึ่งซึ่งมิใช่ผู้จัดซื้อหรือจัดจ้างเป็นผู้ตรวจรับพัสดุหรืองานจ้างนั้น โดยให้ปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ หรือคณะกรรมการตรวจการจ้างก็ได้
4. การจัดซื้อ/จัดจ้าง กรณีพิเศษ
การซื้อ/การจ้างจากส่วนราชการหน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่น ซึ่งมีกฏหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ ในกรณี ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้ผลิตพัสดุหรือทำงานจ้างนั้นเอง และนายกรัฐมนตรีอนุมัติให้ซื้อหรือจ้าง
2. มีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ซื้อหรือจ้าง และกรณีนี้ให้รวมถึงหน่วยงานอื่นที่มีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดด้วย
5. การจำแนกประเภทไม่ถูกต้อง
วัสดุ โดยสภาพมีลักษณะสิ้นเปลือง หมดไป แปรสภาพ หรือไม่คงสภาพเดิม หรือคงทนถาวรและมีราคาต่อหน่วย หรือต่อชุด ไม่เกิน 5,000.-บาท
ครุภัณฑ์ โดยสภาพมีลักษณะคงทนถาวร มีอายุการใช้งานเกิน 1 ปีและมีราคาเกิน 5,000.-บาทต่อหน่วย หรือต่อชุด
6. การปิดอากรแสตมป์
การปิดอากรแสตมป์สัญญาจ้าง/ใบสั่งจ้าง ซึ่งต้องคำนวณจากจำนวนค่าจ้าง(ไม่รวมภาษี มูลค่าเพิ่ม) ในอัตรา 1,000.- ละ 1 บาท เศษไม่ถึง 1,000.- ให้คิดเป็น 1 บาท
กรณีค่าจ้าง ตั้งแต่ 200,000.-บาท ขึ้นไป ให้นำสัญญาไปสลักหลังตราสารเพื่อชำระค่าอากร
(แทนการปิดอากรแสตมป์)ที่สำนักงานสรรพากรก่อนทำสัญญา หรือภายใน 15 วัน นับแต่วันถัดจาก
วันทำสัญญา
7. การจัดซื้อ/จัดจ้าง ตามนัยข้อ 39 วรรค 2
- ไม่ใช่เป็นกรณีเร่งด่วนทุกเรื่อง
การซื้อ/การจ้างโดยวิธีการตกลงราคา ในกรณีจำเป็นและเร่งด่วน ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อน และไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทันให้เจ้าหน้าที่พัสดุ หรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ในการปฏิบัติราชการนั้น ดำเนินการไปก่อน แล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าส่วนราชการ และเมื่อ หัวหน้าส่วนราชการให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นหลักฐานการตรวจรับโดยอนุโลม
8. ระยะเวลาการตรวจรับ
กรณีเป็นการตรวจรับพัสดุที่จ้างทำซึ่งไม่ใช่งานจ้างก่อสร้าง ตามระเบียบ ฯ กำหนดให้ตรวจรับในวันที่ผู้รับจ้างนำพัสดุมาส่ง และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด อย่างช้าต้องไม่เกิน 5 วันทำการ นับแต่วันที่ ผู้รับจ้างนำพัสดุมาส่งมอบ ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวไม่รวมถึงระยะเวลาในการทดลอง หรือตรวจสอบทางเทคนิคหรือทางวิทยาศาสตร์
กรณีเป็นงานจ้างก่อสร้าง คณะกรรมการตรวจการจ้างจะต้องเร่งรัดดำเนินการตรวจการจ้างให้แล้วเสร็จไปโดยเร็วที่สุด และในแต่ละงวด(ยกเว้นงวดสุดท้าย) จะต้องไม่เกิน 3 วันทำการ และงวดสุดท้าย ไม่เกิน 5 วันทำการ การนับวันดำเนินการของคณะกรรมการตรวจการจ้างให้เริ่มนับถัดจากวันที่ผู้ควบคุมงานได้ดำเนินการแล้วเสร็จและรายงานให้ประธานกรรมการตรวจการจ้างทราบ ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจการจ้างไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดได้ ให้รายงานหัวหน้าสถานศึกษาพร้อมด้วยเหตุผลความจำเป็นพร้อมกับสำเนาแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบด้วย
9. การส่งมอบพัสดุ/งานจ้าง เกินกำหนดสัญญา
เมื่อครบกำหนดส่งมอบพัสดุตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้ส่วนราชการรีบแจ้งการเรียกค่าปรับ ตามสัญญา หรือข้อตกลงจากคู่สัญญา และเมื่อคู่สัญญาได้ส่งมอบพัสดุ ให้ส่วนราชการบอกสงวนสิทธิ์ การเรียกค่าปรับในขณะที่รับมอบพัสดุนั้นด้วย
10. การจัดทำราคากลาง
งานก่อสร้าง
จากข้อสังเกตของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทางโรงเรียนไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางในส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ได้ราคากลางเป็นราคาที่เป็นปัจจุบัน ทันเหตุการณ์และเป็นราคาในท้องถิ่น แต่ละแห่ง
ต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง และค่าภาษี ซึ่งแต่ละรายการจะมีข้อมูลที่จะนำมาใช้ ในการคำนวณราคากลางดังนี้
- ต้นทุน ได้แก่ ค่าวัสดุ และค่าแรงงาน
ส่วนกลาง ใช้ราคากรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
ส่วนภูมิภาค ใช้ราคาสำนักงานพาณิชย์จังหวัด
11. การตรวจสอบราคากลางงานก่อสร้าง
การประเมินงานก่อสร้าง โดยเปรียบเทียบบัญชีรายละเอียดงานก่อสร้าง กับราคากลาง
12. การจัดซื้อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ
กระทรวงการคลัง ได้กำหนดบัญชีราคากลางกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ใหม่ ซึ่งเป็นราคา
ที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน รายละเอียดตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนมาก ที่ กค 0408.2 / ว. 59 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2548
13. การตรวจสอบพัสดุประจำปี
- ไม่ได้จัดทำ
- ทำช้า เกินกำหนด
- ตรวจสอบไม่ละเอียด
- จำหน่ายไม่ถูกต้อง
การตรวจสอบพัสดุประจำปี ให้ถือปฏิบัติตาม
1. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ155 ,156
สรุป ก่อนสิ้นเดือน ก.ย.ทุกปี ให้ ผอ.สพท. ผอ.โรงเรียน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ พัสดุคนหนึ่งหรือหลายตามความจำเป็น เพื่อตรวจสอบการรับจ่ายพัสดุ งวด 1 ต.ค.ปีก่อน จนถึง 30 ก.ย.
ปีปัจจุบัน โดยเริ่มดำเนินการตรวจสอบ ในวันเปิดทำการวันแรกของเดือน ต.ค. เป็นต้นไป แลรายงานผล ภายใน 30 วันทำการ เมื่อมีพัสดุชำรุด เสื่อมสภาพ หรือสูญไป หรือไม่จำเป็นใช้ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงขึ้นคณะหนึ่ง กรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นการเสื่อมสภาพ เนื่องจากการใช้งาน หรือสูญไปตามธรรมชาติ ให้พิจารณาสั่งการให้ดำเนินการจำหน่าย และถ้าผลการพิจารณาปรากฏว่า จะต้องหาตัว ผู้รับผิดด้วย ให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
2. คำสั่งมอบอำนาจปฏิบัติราชการของ สพฐ. ที่ 22/2546 เรื่อง มอบอำนาจเกี่ยวกับพัสดุ
สรุป เลขา สพฐ.มอบอำนาจเกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำเอง การซื้อ การจ้าง การจ้างที่ปรึกษา การจ้างออกแบบและควบคุมงาน การแลกเปลี่ยน การเช่า การควบคุม การจำหน่าย และการดำเนินการ อื่น ๆ ที่กำหนดในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุของ เขตพื้นที่การศึกษาหรือสถานศึกษา แล้วแต่กรณี ให้ ผอ.สพท.และผอ.สถานศึกษา ปฏิบัติราชการแทน เลขา สพฐ. เต็มวงเงินที่เป็นอำนาจ
14.การเปลี่ยนแปลงรายการ
- ไม่เป็นไปตามสัญญา
ตามระเบียบฯ ข้อ 136 สัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือที่ได้ลงนามแล้ว จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง
มิได้ เว้นแต่การแก้ไขนั้นจะเป็นความจำเป็นโดยไม่ทำให้ทางราชการเสียประโยชน์ หรือเป็นการแก้ไข เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้ามีการเพิ่มวงเงิน จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือขอทำความตกลงในส่วนที่ใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือ แล้วแต่กรณี
15.การงดหรือลดค่าปรับ การขยายเวลาทำการตามสัญญา
- ขยายเวลา โดยไม่อิงระเบียบพัสดุ
- ไม่มีหลักฐาน
ตามระเบียบฯ ข้อ 139 การงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทำการตาม
สัญญา หรือข้อตกลงให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาได้ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริงเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
(1) เหตุเกิดจากความผิด หรือความบกพร่องของส่วนราชการ
(2) เหตุสุดวิสัย
(3) เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

***ธรรมะของหลวงปู่ทวด***

คติธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ทวด
ธรรมประจำใจ
พูดมาก เสียมาก พูดน้อย เสียน้อย ไม่พูด ไม่เสีย นิ่งเสีย โพธิสัตว์
ละได้ย่อมสงบ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแต่เคลื่อนที่ไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกอย่างในโลกนี้ เคลื่อนไปสู่การสลายตัวทั้งสิ้น ไม่ยึด ไม่ทุกข์ ไม่สุข
ละได้ย่อมสงบ
สันดาน
ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได้
แต่สันดานของคนเราที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้ง
ซึ่งไม่เหมือนกันย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก
ชีวิตทุกข์
การเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง จะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐ
ก็ไม่ประเสริฐ จะเห็นได้ว่า ตื่นเช้าก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ จะต้องล้างหน้า
ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือ เสร็จแล้วจะต้องกินต้องถ่าย นี่คือความทุกข์
แห่งกายเนื้อเมื่อเราจะออกจากบ้านก็จะประสบความทุกข์ในหมู่คณะ
ในการงาน ในสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงตนชอบ นี่คือ ความทุกข์ในการ
แสวงหาปัจจัย
บรรเทาทุกข์
การที่เราจะไม่ต้องทุกข์มากนั้น เราจะต้องรู้ว่า เรานี้จะต้องไม่เอาชีวิต
ไปฝากสังคม เราต้องเป็นตัวของเราเอง และเราจะต้องวินิจฉัยในเหตุการณ์
ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเราว่า สิ่งใดเราควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ
ยากกว่าการเกิด
ในการที่เราเกิดมา ชีวิตแห่งการเกิดนั้นง่าย แต่ชีวิตแห่งการอยู่นั้นสิยาก
เราจะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างสุขสบาย
ไม่สิ้นสุด
แม่น้ำทะเล และมหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำ ฉันใด
กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้น
ยึดจึงเดือดร้อน
ทุกวันนี้ เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดโนน่ ยึดนี่
ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึง
ธรรมสากลจักรวาลโลกมนุษยนี้ ทุกคนมีกรรมจึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก
สัตว์โลกทุนคนต้องใช้กรรมตามวาระ ตามกรรม ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์
ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน เกิดการฆ่าฟันกัน เพราะอารมณ์แห่งการยึดถืออายตนะ
ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าสิ่งใดทำแล้ว สัตว์โลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ
นี่คือ หลักความจริงของธรรมะ
อยู่ให้สบาย
ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น
เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด อยู่กันอย่างไม่ยินดี อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย
อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์
เหนือคำสรรเสริญ เหนือนินทา เหนือความผิดหวัง เหนือความสำเร็จ
เหนือรัก เหนือชัง
ธรรมารมณ์
การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ คือ การอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง
อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคน และรู้หน้าที่ในการงาน คือ รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น
เป็นสิ่งที่เราต้องทำไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน เพราะถ้าเราทำงาน
เพื่อหวังผลตอบแทนต่างๆ แล้วถ้าสิ่งต่างๆไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น
เราย่อมเกิดความโทมนัส เสียใจน้อยใจ เป็นทุกข์
กรรม
ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างที่ว่า
เกิดเพราะกรรม อยู่เพื่อกรรม ทำเพราะกรรม ตายเพราะกรรมแล้ว
ชีวิตการเป็นมนุษย์ย่อมมีความภิรมย์ มีความรื่นเริง
มารยาทของผู้เป็นใหญ่
ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่
ก็คือต้องสุขุมรอบคอบ และไม่ยึดติดเสียงเป็นหลัก คือ ต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทา
และสรรเสริญ
โลกิยะ หรือ โลกุตระ
คนที่เดินทางโลกุตระ ย่อมไปดีทางโลกิยะไม่ได้
คนที่เดินทางโลกิยะ ย่อมสำเร็จทางโลกุตระได้ยาก เพราะอะไร ?
ถ้าคนหนึ่งสำเร็จได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตระง่ายแล้ว
ทำไม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดม ต้องสละราชบัลลังก์แห่งจักรพรรดิไปเป็นธรรมราชาเล่า ?
ถ้าเป็นไปได้ พระองค์เป็นมหาจักรพรรดิพร้อมทั้งธรรมราชา ไม่ดีหรือ?
แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกของโลกิยะและโลกุตระเดินคู่ขนานกัน
เราต้องตัดสินใจ ต้องมีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญในการที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง
ศิษย์แท้
พิจารณากายในกาย พิจารณาธรรมในธรรม พิจารณาวิญญาณ ในวิญญาณ
นั่นแหละ คือ สานุศิษย์อันแท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
รู้ซึ้ง
ทุกอย่างจะต้องมีเหตุ เมื่อมีเหตุจึงจะมีผล ผลนั้นเกิดจากเหตุ
เราได้วินิจฉัยข้อนี้แล้ว เราจึงรู้ซึ้งถึงพุทธศาสนา
ใจสำคัญ
การทำบุญนั้น จะต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์
จะต้องทำด้วยความศรัทธา
ผลสะท้อนมันจะเกิดขึ้นเกินความคาดหมาย
หยุดพิจารณา
คนเรานี้ ถ้าไม่มีอะไรทำอยู่ในที่วิเวกคนเดียว จิตมันจะฟุ้งซ่าน
และถ้าภาวะนั้น ตนไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ คือ หยุดพิจารณา
แล้วค้นสัจจะของ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมที่จะค้นหาสัจจะในธรรมะได้
บริจาค
ทำบุญสังฆทานเป็นจาคะ จาคะเป็นการบริจาคโภคทรัพย์ภายนอก
การสวดมนต์เป็นการภาวนา การภาวนาเป็นการบริจาคภายใน
เพราะฉะนั้น ถ้านับในด้านทิพย์อำนาจ การบริจาคภายในย่อมได้กุศล
มากว่า การบริจาคภายนอก นี่คือเรื่องของนามธรรม
ทำด้วยใจสงบ
เราจะทำบุญก็ดี เราจะทำอะไรก็ดี จงทำด้วยความสงบ
อย่าทำด้วยอารมณ์แห่งความร้อน เพราะการทำด้วยอารมณ์ร้อนนั้น
มันจะพาเราไปสู่หายนะ เมื่อเกิดอารมณ์ร้อน เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
จงอย่าทำ นั่งให้จิตใจมันสบายเสียก่อน เมื่อจิตใจสบายแล้ว ปัญญาก็เกิด
เมื่อเกิดปัญญาแล้ว จะทำสิ่งใดก็เป็นไปโดยความสะดวก
มีสติพร้อม
จะทำสิ่งใดก็ตาม เราต้องมีสติพร้อม
คือ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้อารมณ์เข้ามาควบคุมสติ
อย่าให้เรื่องส่วนตัวและขาดเหตุผล มาอยู่เหนือความจริง
เตือนมนุษย์
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่งานส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีง านทำในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่นอนมาก มนุษย์ผู้นั้น จะไม่ได้นอนในไม่ช้า
พิจารณาตัวเอง
คืนหนึ่งก็ดี วันหนึ่งก็ดี ควรให้มีเวลาว่างสัก 5 นาที หรือ 10 นาที ไม่ติดต่อกับใคร
ให้นั่งเฉยๆ คิดถึงเหตุการณ์ที่เราทำไปแต่ละวันๆ ว่า ที่เราทำไปนั้นเป็นอย่างไร
คือให้ปลีกตัวมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง คิดเอาแต่เรื่องของตัว อย่าไปคิดเรื่อง
ของคนอื่น เพราะมนุษย์เราส่วนมากทุกวันนี้ มักเอาแต่เรื่องของคนอื่นมาคิด
ไม่ค่อยคิดเรื่องของตัวเอง

คัดลอกจากหนังสือ เรียนธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน เล่มของหลวงปู่ทวด
ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม

วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553

***ทุกสิ่งอยู่ที่เราเลือกเอง ***

อย่าไปให้ความสำคัญกับใคร หากคุณเป็นแค่ทางเลือกของเขา
สัมพันธภาพจะดีที่สุดเมื่อทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกันอย่างสมดุล

ไม่ต้องสาธยายเกี่ยวกับตัวคุณให้ใครฟังหรอก
เพราะคนที่ชอบคุณ ยังไงเขาก็ชอบ และไม่มีความจำเป็นที่ต้องได้ยิน
แต่คนที่เกลียดคุณ ยังไงเขาก็ไม่มีทางเชื่อคุณหรอก

เมื่อคุณพูดแต่ว่าคุณยุ่ง คุณก็จะไม่ว่างเลย
เมื่อคุณพูดแต่ว่าคุณไม่มีเวลา คุณก็จะไม่มีเวลาเลย
เมื่อคุณพูดแต่ว่าคุณจะทำในวันพรุ่งนี้ วันพรุ่งนี้จะไม่มีวันมาถึงเลย

เมื่อเราตื่นขึ้นมาในยามเช้า เรามีทางเลือกง่ายๆ 2 อย่าง
กลับไปนอนและฝันต่อ หรือ ลุกขึ้นมาแล้วทำความฝันให้เป็นจริง
การตัดสินใจอยู่ที่ตัวคุณ

เรามักทำให้คนที่ใส่ใจเราต้องร้องไห้
เรามักร้องไห้ให้กับคนที่ไม่เคยใส่ใจเรา
และเรามักใส่ใจกับคนที่ไม่มีวันร้องไห้ให้เรา
นี่คือความจริงของชีวิต แปลกแต่จริง
ถ้าคุณตระหนักถึงความจริงอันนี้ มันก็ยังไม่สายที่จะเริ่มการเปลี่ยนแปลง

อย่ารับปากใคร เมื่อคุณกำลังสนุกสนาน
อย่าได้ตอบกลับ เมื่อคุณกำลังเศร้า
อย่าไปตัดสินใจอะไร เมื่อคุณกำลังโกรธ
ทบทวนความคิดอีกที และลงมือทำอย่างสุขุม

เวลาก็เหมือนสายน้ำ
คุณไม่มีทางสัมผัสน้ำเดียวกันได้สองครั้งหรอก
เพราะมันได้ไหลผ่านไปแล้ว
มีความสุขกับทุกช่วงชีวิตของเราดีกว่า ...

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

**ชีวิตยังมีทิศตะวันออก**


บ่อยครั้งที่ชีวิตผิดพลาด..ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่
เรามักจะเอาสมาธิไปจดจ่ออยู่กับความผิดพลาดนั้น
ซ้ำเติมตัวเองให้ทุกข์...ให้เสียใจ...
และพยายามจะสร้างคำถามเพื่อค้นหาคำตอบให้ตัวเองอยู่เสมอ
ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่าคำตอบที่สร้างขึ้นมานั้น มัน "ไม่ใช่ความจริง"...
ที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากความเสียใจนั้นได้เลย...
เราจึงยอมติดกับดักความเสียใจอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
และกลายเป็นทาสของมันอย่างรู้ตัว...
รู้ว่าเสียใจแต่ก็ไม่ทำให้อะไรมันดีขึ้นมา
และเราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้
แต่ทำไมเรายังเป็นทุกข์กับการเลือกที่จะเสียใจ
และทำชีวิตให้มันแย่ลงกว่าเดิมทุกวันๆ...
ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่ารสชาติของมันสุดแสนจะขมขื่นมากมายเพียงใด
เพราะ " เราเริ่มต้นใหม่ไม่เป็น"...
เราเลยยังทุกข์ระทมไปกับความผิดพลาดของชีวิต
สิ้นสุดแล้วแต่ก็เริ่มต้นใหม่ไม่ได้...
ไปไม่เป็น...เหมือนจะมองเห็นทาง...
แต่ก็เลือกที่จะปิดหู ปิดตา และไม่พยายามจะเปิดใจ
เราจึงต้องอยู่กับความเศร้าเสียใจอยู่ทุกคืนทุกวัน
ตอกย้ำความผิดพลาดให้ตัวเองอยู่อย่างนั้น...
ลองมองดูวิถีดอกทานตะวันบ้างสิ..ชีวิตมีแต่ความเบิกบาน
เพราะรู้จักที่จะใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กับแสงตะวัน
แสงสว่างที่ส่องนำทางให้ชีวิตทุกชีวิต..."ยังคงมีชีวิต"...
แม้ยามที่ดอกทานตะวันร่วงโรย...
ก็ยังคงทิ้งเมล็ดพันธุ์ให้เจริญเติบโต...
งอกงามและรับแสงตะวันได้ใหม่อีกครั้ง
เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ปิดตัวเอง...
แล้วจมอยู่กับความคิดที่ว่าชีวิตต้องเริ่มต้นใหม่ไม่ได้
อย่าทำร้ายตัวเองด้วยการเศร้าเสียใจ...
แล้วปล่อยให้ชีวิตมันไหลไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีคุณค่าและไร้จุดมุ่งหมาย...
จงใช้ชีวิตให้เป็นดั่งเช่นดอกทานตะวัน...
แม้ยามผิดพลาด เสียใจ ก็จะมีทางออกของชีวิตเสมอ
อับจนหนทางอย่างไร แสงสว่างจากดวงตะวัน
ก็จะคอยส่องทางให้เราได้พบเจอทางออก
"ชีวิตเราจึงมีทางออก ตราบใดที่บนโลกใบนี้ยังมีทิศตะวันออก"...
แม้ว่าชีวิตจะยังมืดมน จะยังคงจมอยู่กับความผิดพลาด เศร้าใจ
ก็จงเศร้าให้ถึงที่ สุด เสียใจ ก็จงเสียใจเสียให้พอ
หากยังร้องไห้ ขอให้ระบายน้ำตาออกมา อย่ากักเก็บมันไว้ ...
เมื่อเราเสียใจอย่างถึงที่สุดแล้ว เราต้องกล้าลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง
และพร้อมที่จะเป็นคนใหม่ ที่ใช้บทเรียนจากอดีต...
เป็นเหมือนเข็มทิศคอยช่วยบอกทางแก่ชีวิต เพราะ...
" ความเศร้านั้นมีข้อดีข้อเสียในตัวมันเอง
ข้อเสียคือทำให้เราโศกาอาดูร
แต่ข้อดีของมันคือ...
สอนให้เรารู้ว่าเราจะไม่ผิดพลาดตรงนี้อีก
เราจะต้องไม่ร้องไห้ให้กับมันอีก..."
ใครบางคนเคยบอกเอาไว้ตอนที่เสียใจกับความผิดพลาดของชีวิต...
เพราะฉะนั้นแล้วเกิดเป็นคน มีความรู้สึกรู้สาเหมือนกันหมด
สามารถเศร้าเสียใจกับอดีตที่ผิดพลาดได้เหมือนกันหมด
และก็เริ่มต้นใหม่เหมือนกันหมดเช่นเดียวกัน...
ขอเพียงกล้าที่จะเป็นนกปีกหักที่พร้อมจะรักษาตัวเอง
และออกเดินทางได้โดยไม่กลัวว่าหนทางข้างหน้า...
จะผิด พลาดซ้ำสอง อย่าลืมนะว่า ...
" เรามีโอกาสผิดพลาดได้บ่อยครั้งเท่าไหร่ เราก็เดินถูกทางมากขึ้นเท่านั้น..."

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การเขียนบทความรายงานการวิจัย

การเขียนบทความรายงานการวิจัย
เป็นการเขียน หรือนำเสนอรายงานการวิจัยด้วยการเขียนในรูปแบบบทความตามแบบมาตรฐานนิยม หรือในรูปแบบที่วารสารวิชาการแต่ละสถาบันกำหนด
ผู้เขียนบทความรายงานการวิจัย อาจเป็นผู้วิจัย หรือ เจ้าของงานวิจัยเอง หรือผู้เขียนนำรายงานการวิจัยของผู้อื่นมาเรียบเรียงนำเสนอในรูปแบบบทความก็ได้
ส่วนประกอบของบทความรายงานการวิจัยแบบสรุปสาระสำคัญของรายงานการวิจัยแบบรูปเล่ม มี ส่วนประกอบ ดังนี้
1. ชื่อรายงานการวิจัย
2. ชื่อ นามสกุล ผู้วิจัย
3. บทคัดย่อ (ภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ)
4. ความเป็นมา และความสำคัญ
5. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
6. ขอบเขตของการวิจัย
7. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
8. นิยามศัพท์
9. วิธีดำเนินการวิจัย
10. สรุปผลการวิจัย
11. อภิปรายผล หรือข้อวิจารณ์
12. ข้อเสนอแนะ
13. บรรณานุกรม/เอกสาร และสิ่งอ้างอิง
14. ระบบการอ้างอิงแบบแทรกปนไปกับเนื้อหา นิยมใช้ระบบ นาม ปี อ้างอิงแบบเชิงอรรถ รวมรายการอ้างอิงไว้ที่หน้าสุดท้ายของเนื้อหาบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การบริหารแบบมีส่วนร่วม

การบริหารแบบมีส่วนร่วม

ความหมายและความสำคัญของการบริหารแบบมีส่วนร่วม
“การบริหาร” ความหมาย คือ กระบวนการวางแผน การจัดองค์การ การสั่งการและการควบคุม การปฏิบัติการในองค์การ และการใช้ทรัพยากรอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กร หรืออีกความหมายหนึ่ง คือ กระบวนการทำงานเพื่อก่อให้เกิดการทำงานที่เป็นผลสำเร็จด้วยการใช้บุคคล และทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุซึ่งเป้าหมายของความต้องการ

“การมีส่วนร่วม” ความหมาย คือ ทรัพยากรในการบริหารที่เป็นส่วนของบุคคลในแต่ละระดับการปฏิบัติมีส่วนในกระบวนการวางแผน การจัดองค์กร การสั่งการ และควบคุมการปฏิบัติในแต่ละส่วน ๆ อย่างเต็มความสามารถ ทั้งในทิศทางเพื่อการปฏิบัติด้านเดียว หรือการนำเสนอซึ่งความคิดในการดำเนินการตามกระบวนการนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

“การบริหารแบบมีส่วนร่วม” จึงหมายถึง การที่บุคคลในองค์กรหรือต่างองค์กรได้ร่วมกันเพื่อจัดการงานให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จ ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมนั้น ๆ จะอยู่ในขั้นตอนใด ๆ ก็ตาม โดยขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ข้อจำกัดขององค์กรในแต่ละกระบวนการของการดำเนินการบริหารเป็นเกณฑ์
บุคคลในการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารงานหรือการจัดการงาน สามารถที่จะแยกได้
กว้าง ๆ คือ
- ภายในองค์กร จะประกอบด้วย ผู้บังคับบัญชา (ผู้บริหารระดับสูง) ผู้บริหารระดับกลาง (กลุ่มงานต่าง ๆ) และผู้ปฏิบัติ (คนงาน ผู้ทำงานระดับล่าง) สายสัมพันธ์ของบุคคลในองค์กรจะเป็นไป ตามลักษณะบังคับบัญชาตามลำดับ โดยทั่วไปขององค์กรแล้วจะมีข้อกำหนดไว้เป็นแนวทางอย่างชัดเจน ซึ่งทุกระดับต้องปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการเสมอ การมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการในองค์กรจึงเป็นในทิศทางเพื่อการปรับปรุง พัฒนา หรือแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องของการดำเนินการในแต่ละองค์ประกอบ ความจำเป็นของการมีส่วนร่วมอาจไม่ทั้งหมดของบุคคลในทุกระดับ อาจเฉพาะเพียงแต่ในระดับเดียวกันเท่านั้น หรือเหนือขึ้นไปในระดับหนึ่งก็เป็นไปได้ ลักษณะการมีส่วนร่วมของการจัดการหรือบริหารภายในองค์กรมีรูปแบบต่าง ๆ
ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม รูปแบบเบื้องต้นก็คือการเสนอเช่นข้อคิดเห็นเป็นเอกสาร ผ่านกระบวนการสอบถามหรือโดยส่งเอกสาร
- ต่างองค์กร จะประกอบด้วยในหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่จัดกระทำในระดับผู้บริหารระดับสูง การมีส่วนร่วมจะเป็นในรูปของการให้ความเห็นข้อคิด แลกเปลี่ยนหรือสนับสนุนเพื่อการจัดการ หรือระดับผู้ปฎิบัติก็เป็นในทิศทางของการจัดการร่วมกันในกิจกรรมอย่างเดียวกัน ทั้งนี้โดยผลประโยชน์ขององค์กรทั้งสองต้องไม่ขัดแย้งหรือมีการสูญเสียผลประโยชน์ต่อกันในรูปใด ๆ
ในการมีส่วนร่วมของบุคคลในระบบราชการจะเห็นได้ว่ามีในหลายลักษณะเช่นเดียวกับรูปของ องค์กรในปัจจุบัน กรณี ภารกิจการดำเนินการของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ต้องมีบทบาทและหน้าที่สัมพันธ์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคลในสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดต้องเป็นผู้มีภารกิจหน้าที่เพื่อการสำรวจออกแบบประมาณการต่องานขององค์กรปกครองท้องถิ่นหรือ (อบต.) เพื่อโครงการถ่ายโอนกิจกรรมบริการสาธารณะต่าง ๆ การก่อให้เกิดความมีส่วนร่วมของบุคคลในท้องถิ่น จะเป็นผลให้การปฏิบัติงานตามภารกิจบรรลุเป้าหมายโดยสมบูรณ์ กลไกต่าง ๆ ในกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องที่ต้อง ดำเนินการอย่างมาก
ความสำคัญของการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม
เป็นเหตุผลที่จำเป็นต่อการบริหารหรือการจัดการองค์กร คือ
1) ก่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในการปฏิบัติงานที่มุ่งหวัง
2) กระบวนการตัดสินใจสามารถรองรับพฤติกรรมของบุคคลในองค์กรได้กว้างขวางและเกิดการยอมรับได้
3) เป็นหลักการของการบริหารที่เป็นผลต่อการดำเนินการเชิงวิเคราะห์ด้วยเหตุผลวิวัฒนาการ เพื่อความคิด (การเปิดกว้าง) การระดมความคิด (ระดมสมอง) ซึ่งนำไปสู่ การตัดสินใจได้
4) ลดช่องว่างของระบบการสื่อสารในองค์กรและขจัดปัญหาความขัดแย้งได้
ปรัชญาการบริหารแบบมีส่วนร่วมได้ดังนี้

1. การบริหารแบบมีส่วนร่วมเป็นการทำงานในบรรยากาศแบบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและการตัดสินใจในกระบวนการบริหาร
2. โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย สติปัญญา ความสามารถ เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ทำให้มีสามารถกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ด้วยคน ๆ เดียว จึงต้องมีการร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาในข้อจำกัดดังกล่าว
3. การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการบริหารจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้การทำงานมีประสิทธิภาพสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะเป็นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความผูกพันทั้งด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมที่มีต่อกิจกรรมนั้น ๆ จึงทำให้การลงทุนมีความเสียงน้อย
จากปรัชญาทั้ง 3 ประการนี้ จึงเป็นแนวทางในการดำเนินงานที่จะก่อให้เกิดผลดีในกิจกรรมต่าง ๆ และเป็นกลวิธีประการหนึ่งในการบริหารงานในทำนองที่ว่า “หัวเดียวกระเทียมลีบ” หรือ “สองหัวดีกว่าหัวเดียว” หรือ “สองแรงแข็งขัน” ดังนั้น มนุษย์จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน สหกรณ์ สมาคม ชมรม การเมือง การศึกษา เป็นต้น
การมีส่วนร่วมของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในองค์กรของการปฏิบัติงานใด ๆ จะปรากฏบุคคลในระดับต่าง ๆ ปฏิบัติงานเพื่อการนั้น ๆ โดยสังเขป อาทิ ผู้นำองค์กร
ผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ หัวหน้าสำนักงาน , ผู้จัดการ หรือประธานกรรมการ- บริษัท ฯลฯ
ผู้บริหารระดับกลาง ได้แก่ หัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ผู้ช่วยผู้จัดการ , กรรมการบริหาร ฯลฯ
ผู้บริหารระดับต้น อาทิ หัวหน้างาน , วิศวกรโครงการ
หัวหน้าโครงการ ฯลฯ ผู้ปฏิบัติงาน อาทิ ธุรการ , การเงิน ฯ วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ
กลุ่มผู้ใช้แรงงานอื่น ๆ อาทิ ภารโรง , คนงาน ฯลฯ และประชาชนที่อาจเกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะ
การปฏิบัติงานขององค์กรโดยทั่วไปจะเป็นไปโดยการแบ่งแยกหน้าที่มีการงานแต่ละแผนก ฝ่าย กอง หรือ หน่วยงานตามคำสั่งมอบหมายหน้าที่การงาน หรือแผนภูมิรูปแบบการจัดองค์กรของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งมีแยกต่างกันทั้งราชการหรือเอกชน การปฏิบัติงานเชิงคำสั่งหรือแผนภูมิเหล่านั้นเป็นลักษณะของการสั่งการ จะเป็นทั้งรูปแบบประสานจากเบื้องบนลงล่าง หรือจากเบื้องล่างสู่บน หรือในระดับเดียวกันได้เสมอ พฤติกรรมการปฏิบัติลักษณะแนวสั่งการนี้เป็นเรื่องปกติ โดยมีพื้นฐานจากหลักองค์กรที่ได้วางไว้ การพัฒนาหรือการประสบความล้มเหลวหรือการประสบความสำเร็จของงานในองค์กรเป็นสิ่งที่สามารถมองออกและมองได้ โดยการทำงานเชิงบุคคลเป็นสำคัญ แนวเปลี่ยนผ่านซึ่งความสำเร็จใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยการเสนอความคิด และร่วมกระทำ กระทำได้แต่ไม่สอดรับเท่าที่ควร การจัดกระทำเพื่อองค์กรให้มีการพัฒนาและเร่งรัดจะต้องก่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม องค์กรที่มีส่วนร่วมต่อกันของบุคคลหรือคนในองค์กรมีข้อโยงยึดถือความคิดเห็นในทิศทางของ

1) ลักษณะของปัญหาหรือความต้องการที่จะแก้ไขหรือตัดสินใจ บนพื้นฐานของบุคคลที่รับรู้
2) การเรียนรู้ว่าสิ่งที่เป็นความต้องการเพื่อแก้ไขหรือข้อมูลของปัญหามีที่มาและอยู่ในทิศทางใด
3) การนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเหตุและผลซึ่งเป็นการระดมจาก ความคิดบุคคล เอกสาร หรือข้อเสนอหรือข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
4) การประเมินผลลัพธ์ว่ามีความเป็นไปได้อย่างไรมีข้อจำกัดหรือมีความเสี่ยงอย่างไร และ
5) การตัดสินใจของผู้บริหาร การหาทางเลือกในการตัดสินใจ เหตุผลของการตัดสินใจ และผลลัพธ์ที่ได้
ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องมาจากความคิดในบุคคลทุกระดับร่วมกันเสนอหรือให้ข้อมูลหรือวินิจฉัยเป็นมูลฐาน
แนวทางการสร้างและสนับสนุนการมีส่วนร่วม
ในการบริหารงานขององค์กรใด ๆ นั้น มีรูปแบบอยู่หลายสถานะ สิ่งที่จะส่งผลต่อการเกิดบรรยากาศเพื่อทุกคนและยังไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายที่ต้องการนั้น มีความจำเป็นในทิศทางของการสร้างและสนับสนุน คือ
การพัฒนาความรู้สึกรับผิดชอบ ซึ่งเป็นการที่บุคคลในฐานะต่าง ๆ ต้องก่อความรู้สึกและสร้างแรงกระตุ้นต่อบุคคลอื่น ๆ ให้มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ บนพื้นฐานแห่งความที่บุคคลมีความมั่นใจว่าเหตุและผลทางความคิดจะได้รับการสนับสนุน
การริเริ่มลักษณะแห่งพฤติกรรมบุคคล เป็นข้อคิดแห่งการสร้างรูปลักษณ์ของการแสดงออกของบุคคล ลดและขจัดปมความคิดแย้งหรือความขลาดกลัวจากพฤติกรรมบุคคลให้ลดน้อย สร้างความกล้าต่อการแสดงออก
การเปิดโอกาสเพื่อการแลกเปลี่ยน ย่อมเป็นผลดีต่อกลุ่มและบุคคลได้ในระดับกระทำ เพราะโอกาสเพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใด ๆ หรือประสบการณ์มักถูกปิดกั้นด้วยคำสั่งหรือความคิดเบื้องบน การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนย่อมส่งผลต่อเหตุและผลในการพัฒนาความคิดต่าง ๆ ได้
การสนับสนุนแนวความคิดที่สามารถเป็นแบบอย่างได้ ซึ่งการสนับสนุนแนวคิดเหล่านั้นสามารถดำเนินการในทิศทางของงบประมาณหรืออื่นใดเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลแห่งการสร้างสถานะบุคคลให้ไว้วางใจองค์กรให้ความร่วมมือต่อองค์กรได้มาก
สถานการณ์เพื่อการบริหารหรือจัดการ ผู้บริหารต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในการจัดการงานด้วยเสมอ เพื่อผลสูงสุด การเลือกแบบการบริหารใด ๆ ย่อมส่งผลต่อการมีส่วนร่วมได้ ปัจจุบันการบริหารส่วนใหญ่ มุ่งแบบการมีส่วนร่วมเพราะเป็นการเปิดโอกาสแห่งบรรยากาศการริเริ่มสร้างสรรค์
การมองหาความคิดเฉพาะในส่วนที่ดี เป็นมุมมองของการบริหารที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ว่าเมื่อบุคคลใดเสนอแนวคิดเพื่องานแล้วควรได้เห็นความเหมาะสมและทิศทางการเสนอของบุคคลอื่น ๆ ด้วยดี มิใช่มุ่งแนวทางเพื่อความขัดแย้งหรือสร้างฐานการไม่ยอมรับให้เกิดขึ้น
จูงใจให้เกิดการสร้างกระบวนการความคิดให้เกิดในทุกกลุ่มงาน การสร้างแรงจูงใจย่อมเป็นผลต่อบุคคลที่ก้าวมาสู่การต้องการมีส่วนร่วมเสมอหากผลตอบแทนเหล่านี้มีคุณค่าและประโยชน์ต่อตน ทั้งนี้ย่อมขึ้นกับปฏิกิริยาของบุคคลโดยรวมขององค์กรด้วยว่าจะทำให้ได้เพียงใด
ขั้นของความสำเร็จที่ส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมและบุคคลยอมรับ อาจได้แก่
- การเรียนรู้ในกิจกรรมของตนหรือหน้าที่ของตนเองอย่างต่อเนื่อง เป็นผลต่อความรู้สึกในการอยากรู้ อยากเข้าใจ และอยากเข้าไปมีส่วนร่วม (เป็นการทำการบ้านเพื่อตนเอง)
- สไตล์การทำงานของแต่ละบุคคล เป็นโอกาสของการเลือกเพื่อให้ตนเองก้าวต่อไปหรือได้รับการสนับสนุน
- ความมีอารมณ์ที่มั่นคง
- การยอมรับจุดอ่อนของตนเอง หรือความบกพร่องต่าง ๆ ของตนเอง
- รู้ตนเอง (จุดแข็งที่มีอยู่หรือศักยภาพของตนเอง)
- มีความคิดเห็นในเชิงทะเยอทะยาน โดยเป้าหมายเป็นจุดน่าทดลองเสี่ยงเพื่อความสำเร็จในงานของตนเอง
- สร้างข่ายงานได้ โดยมีการพึ่งพาต่อกัน ทั้งเพื่อน , ผู้บังคับบัญชา หรือ ผู้ใต้บังคับบัญชา
- เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่มว่ามีขั้นตอนอย่างไร
- เรียนรู้ที่จะเงียบ และ
- ถือสัตย์ เป็นแบบแผนการทำงาน

คุณสมบัติของบุคคลเพื่อการมีส่วนร่วม
1. หาแนวคิดและวิธีการในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเสมอตลอดเวลา
2. แสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเอง
3. รู้จักใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
4. วางแผนไว้ล่วงหน้าโดยมีระยะเวลา
5. มีทัศนคติที่ดีต่องานที่ทำ
6. เป็นสมาชิกที่ดีและเป็นผู้นำที่ดีด้วย
7. สร้างแรงกระตุ้นต่อตนเองและรู้ว่าอะไรคือแรงจูงใจ
8. รู้งานทุกส่วนและหน้าที่อย่างดี
9. มีมนุษยสัมพันธ์ดี
10. สำนึกถึงการสูญเปล่าและรู้ต้นทุน
11. แสวงหาแรงจูงใจที่ไม่มีเงินเกี่ยวข้อง
12. ปรับและรับฟังความคิดเห็นได้ในทุกระดับ
13. สนใจงานที่ทำแทนการพยายามหางานทำที่สนใจ
14. มีความสม่ำเสมอ
15. เชื่อว่าการทำงานเป็นผลให้ฉลาดและไม่เป็นเรื่องหนักงาน
16. ไม่บ่น
17. ทำงานได้ดีกว่ามาตรฐาน
18. นิสัยในการทำงานที่ดี
19. เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เร็วและทันสมัย
20. มีประวัติดีและก่อผลงานสม่ำเสมอ

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมของบุคคลในองค์กร สิ่งที่มีผลต่อการก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุด คือ แรงจูงใจ และภาวะของบุคคล (ผู้นำ)
แรงจูงใจ คือ สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้น เพื่อก่อให้เกิดการกระทำของพลังในบุคคลส่งผลต่อการแสดงซึ่งพฤติกรรมและวิธีการในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักที่ต้องการ เพราะแรงจูงใจมีผลต่อกระบวนการทำงานของคนในทิศทางแห่งประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่ต้องการ
ลักษณะของแรงจูงใจจะแสดงออกได้โดยลักษณะพฤติกรรมซึ่งมีหลายทิศทางขึ้นอยู่กับบุคคล และ ขึ้นกับธรรมชาติแห่งความต้องการของบุคคลด้วย ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาโดยเป็นไปตามความปรารถนา ความคาดหวัง และจุดมุ่งหมายต่าง ๆ ของตนเอง
ความสำคัญของแรงจูงใจต่อกระบวนการมีส่วนร่วม มีคำกล่าวว่า “ผู้บริหารที่ดี คือ ผู้ที่สามารถทำงานให้สำเร็จได้โดยผู้ร่วมงาน” หมายถึง การที่องค์กรหรือผู้บริหารขององค์กรต้องให้ความสำคัญ และนำมาใช้ในกิจการต่าง ๆ ของงาน เพื่อส่งผลให้
1) การร่วมมือร่วมใจเพื่องาน
2) ความจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อองค์กร
3) เกื้อหนุนให้เกิดระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อผลในการกำกับควบคุมคนในองค์กร
4) การเกิดความสามัคคีในองค์กรหรือกลุ่ม
5) เข้าใจต่อนโยบายและวัตถุประสงค์ร่วมกันของบุคคลในองค์กร
6) สร้างความคิดใหม่เพื่อองค์กร
7) มีศรัทธาความเชื่อมั่นต่อตนเองและกลุ่ม
ภาวะผู้นำ มีผลต่อการมีส่วนร่วมขององค์กรหรือบุคคลในองค์กร ในทิศทางของกระบวนการตัดสินใจ เพราะการมีแรงจูงใจให้ปฏิบัติหรือการมีส่วนร่วมให้ปฏิบัติใด ๆ หากกระบวนการตัดสินใจไม่เป็นผลแล้ว ยังส่งผลต่อการที่ไม่บรรลุความสำเร็จได้ การตัดสินใจในระดับผู้นำขึ้นอยู่กับ
- ความเชี่ยวชาญ คือการย่อมรับและให้ความร่วมมือ
- ความดึงดูดใจ คือเหตุผลทางอารมณ์และอิทธิพลซึ่งเป็นพรสวรรค์เฉพาะตัว


ปัญหาและข้อจำกัดของการบริหารแบบมีส่วนร่วม
สิ่งที่ไม่เป็นผลต่อความสำเร็จของการบริหารงานการมีส่วนร่วม คือ
1) ลักษณะการสื่อสารในองค์การและระหว่างบุคคลไม่เหมาะสม
2) พฤติกรรมหรือแรงจูงใจต่อบุคคลไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม
3) ผู้นำมีปัญหา

ลักษณะการสื่อสารในองค์การและระหว่างบุคคลไม่เหมาะสม ลักษณะทั่วไปของสื่อที่ไม่เหมาะสมจะเกิดจาก
1) การมีข้อมูลหรือการมีคำสั่งที่ถ่ายทอดไม่ชัดเจน เป็นผลให้ผู้รับฟังข้อมูลหรือได้รับคำสั่ง ขาดความเข้าใจ หรือไม่เข้าใจทำให้นำไปสู่การปฏิบัติได้ไม่ดี
2) การรับข่าวสารหรือข้อมูลเอกสาร ต้องมีการตีความ ทำให้การปฏิบัติเป็นข้อโต้แย้งหรือถกเถียง ผลของการโต้แย้งหรือถกเถียง ไม่สามารถนำไปสู่การตัดสินใจได้ดีทำให้ความร่วมมือลดลงหรือขาดหายไป
3) มีผู้ก่อกวน อาจเป็นตัวเอกสารที่มีการสั่งการขัดกันเองหรือมีผู้ปฏิบัติที่มีปฏิกริยาขัดแย้งชี้นำการปฏิบัติ ผลคือการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ลดบทบาทความร่วมมือไป
4) ทิศทางการสื่อสารของบุคคลในองค์กร ซึ่งจะมีการสื่อต่อกันได้ทั้งในแนวบนลงล่าง จากล่างขึ้นบนหรือในแนวระดับเดียวกัน การสื่อสารแต่ละแนวย่อมส่งผลต่อการสั่งการ การตัดสินใจ หากกลุ่มบุคคลของแต่ละแนวมีแนวคิดแตกต่างกัน

พฤติกรรมหรือแรงจูงใจต่อบุคคลไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม เหตุที่พฤติกรรมหรือแรงจูงใจต่อบุคคล ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม จะเกิดจากการที่
1) การใช้ทฤษฎีแรงจูงใจในการจัดกระทำไม่ถูกต้อง อาทิ การนำเอาความพอใจเป็นหลัก หรือการนำเอาความต้องการของมนุษย์เป็นหลักมาใช้ในกรอบแนวคิดการสร้างแรงจูงใจ ซึ่งอาจ ส่งผลต่อการโต้แย้งหรือไม่พอใจเกิดขึ้นทำให้การอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรม นั้นๆ ถดถอยลง
2) พฤติกรรมของบุคคลมีอคติต่อองค์กร ย่อมส่งผลต่อการมีส่วนร่วม เพราะถ้าบุคคลเห็นว่าองค์กรหรือบ้านของตนเองที่อยู่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมแล้วการกระทำใด ๆ ย่อมขัดแย้งและไม่เอื้อประโยชน์ได้ แต่หากการแก้ไขบทบาทของบุคคลให้มีทัศนคติดี มีความกระตือรือร้น มีสมาธิ มีความรับผิดชอบหรือมีพลังเพื่องาน กิจกรรมใด ๆ ที่เขาเหล่านั้นมุ่งจัดการย่อมเป็นจุดมุ่งหมายเพื่อการกระทำโดยส่วนร่วมได้ง่าย
3) การมีส่วนร่วมของทุกคนในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ไม่มีความขัดแย้งหรือมีความ ขัดแย้งแต่พร้อมต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลง รับผลของการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำย่อมเป็นทิศทางของการอยากมีส่วนร่วม
ผู้นำมีปัญหา เหตุที่กล่าวถึงกรณีการไม่สามารถบริหารงานได้อย่างดีในการมีส่วนร่วมมีผลมาจากผู้นำในระยะเริ่มต้น อาทิ
1) คนทุกคนมีจุดมุ่งหมายในชีวิตเพื่อความต้องการในปัจจุบันและอนาคตในกรณีต่าง ๆ อาทิ มีความเป็นอยู่บนชีวิตที่ดี (กินดีอยู่ดี) , มีความมั่นคง ปลอดภัยในตนเองและครอบครัว มีความรัก มีหน้ามีตาในสังคม , มีการยอมรับยกย่องนับถือ และมีความสำเร็จในชีวิต เมื่ออยู่ในองค์กรแต่ประสบปัญหากดดันและไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำกลุ่มหรือองค์กรย่อม เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบและเป็นความขัดแย้ง
2) การขาดแรงจูงใจในการนำไปสู่ความสำเร็จของงาน เหตุด้วย ผู้นำขาดภาวะการเรียนรู้ ไม่มีความชำนาญ ไม่มีความเชื่อมั่นตนเอง หรือมีโรคภัยเบียดเบียน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นผลทางจิตใจต่อการมีส่วนร่วมและสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน
3) ผู้นำขาดมนุษยสัมพันธ์ ความรับผิดชอบ หย่อนคุณธรรม และทักษะการเรียนรู้จากงาน เป็นผลให้ไม่สามารถเข้ากับบุคคลได้อย่างดี ทำให้การนำเสนอความต้องการหรือการตัดสินใจเพื่อกลุ่มหรือส่วนร่วมเป็นไปได้โดยยากหรือไม่เหมาะสม
การบริหารงานการมีส่วนร่วม เป็น การบริหารที่ทุกคนในองค์กรหรือต่างองค์กรได้มีโอกาสจัดกระทำการงานตามเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ตามประสงค์ที่ต้องการ ผู้นำในการบริหารแบบมีส่วนร่วมจึงต้องเป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพดี มีทักษะในงานและความฉลาด มีความสามารถในงานและการตัดสินใจ มีมนุษยสัมพันธ์และคุณธรรมในการปฏิบัติงาน และมีความสามารถในบทบาทของตนเองอย่างดี กระบวนการบริหารจึงจะบรรลุเป้าหมายขององค์กรที่ต้องการได้ด้วยดี
การมีส่วนร่วมของประชาชนกับการบริหารราชการ
นิยามของการมีส่วนรวมของประชาชน ระบบราชการมุ่งประสงค์ให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในการดำเนินงานทางการบริหาร หรือการดำเนินกิจการของรัฐ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตนเอง (ประชาชน) การมีส่วนร่วมทางตรง จะเห็นได้จากการที่ประชาชนสามารถตัดสินใจทางเลือกเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะหรือเข้าร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ของรัฐในแต่ละสาขา หรือการลงประชามติในเรื่องต่าง ๆ หรือการเข้าร่วมเป็นกรรมการในการดำเนินงาน อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับการจ้าง หรือการกำหนดราคาการจ้างต่าง ๆ ได้ สำหรับการมี ส่วนร่วมทางอ้อม ก็คือการที่ประชาชนสามารถเสนอความคิดความเห็นผ่านเครือข่ายหรือกลุ่มตัวแทนต่าง ๆ และทั้งการให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารราชการผ่านสื่อใด ๆ อาทิ วิทยุ , โทรศัพท์ , เว็บไซต์ หรือจดหมายข่าว
การบริหารราชการเชิงการพัฒนาที่มุ่งให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถพิจารณาได้ในแนวทางดังนี้
1) มีการเปิดเผยข้อมูลและโปร่งใสในการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานโดยมีช่องทาง เพื่อการให้ข้อมูลข่าวสารที่กว้างขวางต่อประชาชนและเข้าถึงได้โดยสะดวก
2) มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับภารกิจของหน่วยงานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เปิดช่องทางเพื่อการนี้อย่างจริงจัง
3) มีระบบการจัดการข้อมูลข่าวสารที่ได้จากประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการ ปรับปรุงแก้ไขระบบการบริหารงาน , การให้บริการ และการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ หรือนโยบายอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการหรือประโยชน์ของประชาชนอย่างชัดเจน โดยมีผู้รับผิดชอบและรายงานผลการดำเนินการเชิงสรุปเสนอที่เป็นรูปธรรมต่อเนื่อง
4) เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม (เอกชน , ประชาชน และเครือข่ายต่าง ๆ) ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาในกิจกรรมกระบวนงานของหน่วยงานสำหรับการกำหนดทิศทางแห่งนโยบาย และกิจกรรมสาธารณะ ที่กระทบต่อประชาชนหรือตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
5) ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในส่วนราชการ โดยสามารถเข้าถึงในการจัดกระบวนการหรือกลไกต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม และร่วมในการตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินงาน หรือผลสำเร็จของการทำงานของหน่วยงานราชการได้
กรมโยธาธิการและผังเมืองกับเป้าหมายการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในภาพรวมของภารกิจหลัก ๆ จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์สำคัญที่กรมได้กำหนดไว้ คือ การเสริมสร้างการพัฒนาเมืองและการพัฒนา ความปลอดภัยในอาคาร การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน การเสริมสร้างการพัฒนาเมืองและชุมชน และการพัฒนาระบบการบริหารงานให้มีความเป็นเลิศ ซึ่ง ทั้ง 4 ประเด็นเป็นเรื่องที่กำหนดไว้และส่งผลต่อประชาชนแทบทั้งสิ้น การดำเนินงานในกิจกรรมหรือเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อสนองตอบตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ สามารถเห็นภาพของการให้โอกาสหรือยอมรับว่ามีประชาชนหรือภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานในกิจกรรมหรือขั้นตอนต่าง ๆ ยังไม่ขยายวงกว้างให้สอดคล้องต่อหลักการการบริหารเชิงการพัฒนา อาทิ การวางผังเมือง การควบคุมอาคาร และการจัดรูปที่ดิน ซึ่งเป็นภารกิจที่มีกฎหมายรองรับและต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้และในหลาย ๆ ขั้นตอนซึ่งกำหนดโดยแนวปฏิบัติตามกฎหมาย ประชาชนหรือองค์กรเอกชน หรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถมาร่วมในการพิจารณา , นำเสนอ และให้ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าการพิจารณา การนำเสนอหรือการให้ ข้อมูลเหล่านั้นอาจเป็นเพียงส่วนน้อยที่ถูกนำไปสู่การได้รับการตัดสินใจ เพื่อการปรับปรุง แก้ไข หรือ เปลี่ยนแปลงแห่งเหตุสาระของการงานที่เกิดขึ้นในกระบวนงาน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดผ่านแห่งการพัฒนา เพื่อความสำเร็จของงานในอนาคตต่อไปอย่างดี
ความสำเร็จของการมีส่วนรวมภาคประชาชนในฐานะองค์กรของรัฐจะต้องเร่งรัดและปรับปรุง การจัดการบริหารเพื่อก่อผลแห่งการพัฒนา กล่าวคือ
** องค์กรต้องมีคณะทำงานเพื่อการนี้อย่างเป็นรูปธรรมและประสานการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและวิเคราะห์สถานภาพแห่งภารกิจ ประกอบยุทธศาสตร์การบริหารและงบประมาณอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดกระบวนงานที่เหมาะสมสำหรับการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมที่ดี
** ช่องทางของการเข้าถึง ซึ่งข้อมูลและข่าวสารใด ๆ ต้องปรากฏอย่างชัดเจนและมีหลายช่องทางที่จัดกระทำได้ และต้องมีการประชาสัมพันธ์ทิศทางการเข้าหาหรือเข้าถึงอย่างเป็นรูปธรรมโดยต่อเนื่องพร้อมทั้งแสดงผลจากการมีส่วนร่วมด้วยความน่าเชื่อถือ เชิงผลแห่งการกระทำจริง และสร้างศรัทธาความเชื่อมั่น
‏ ** องค์กรต้องเปิดโอกาสเพื่อการเข้ามาเป็นส่วนร่วมในคณะทำงานหรือคณะกรรมการหรือกลุ่มใด ๆ อย่างกว้างขวางทั้งภาคเอกชน , ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสียตามภารกิจนั้น ๆ ทั้งนี้จะเป็นการเข้ามาทั้งทางตรง และทางอ้อมก็ได้ โดยปราศจากการปิดกั้น
** องค์กรต้องฟังความเห็น , ข้อเสนอ , ข้อมูล หรือแนวทางการตัดสินใจของประชาชน หรือ แนวปฏิบัติให้มากที่สุดทั้งนี้ต้องจัดกระทำโดยปราศจากอคติหรือบนเงื่อนไขแห่งความขัดแย้ง อันรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถชี้แจง หรือประกอบเหตุผลต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางในเวทีที่สามารถกำหนดได้
** องค์กรต้องรวบรวมผลแห่งความมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมบทสรุปทั้งความสำเร็จ และความขัดแย้งเพื่อประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าความเห็นเหล่านั้น อาจจะนำไปสู่การตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจของผู้บริหารขององค์กร หรือของรัฐก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดแรงจูงใจต่อประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียให้มองเห็นความจริงใจและเป็นช่องทางต่อการนำเสนอหรือติดตามผลในลำดับต่าง ๆ
การบริหารแบบมีส่วนร่วมภาคประชาชน เป็นความยุ่งยากและมีความซับซ้อนอย่างมากสำหรับ ผู้บริหารขององค์กรเชิงปฏิบัติ ความสำเร็จในกิจกรรมหรือภารกิจใดที่สามารถน้อมนำความคิดเห็น ข้อเสนอ ของประชาชนมาจัดการได้ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จสุดยอด การดำเนินงานเพื่อการบริหารดังกล่าวจึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งภายในองค์กรต่างองค์กร และประชาชนรวมถึงผู้เกี่ยวข้องหรือมิได้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่มี ความคิดเห็น กระบวนการวิเคราะห์และพิจารณาตัดสินใจเพื่อการใด ๆ ที่สามารถขจัดความขัดแย้ง ความเคลือบแคลงสงสัย ปัญหาหรืออุปสรรคที่เป็นปัจจัย จึงเป็นเป้าประสงค์ที่องค์กรแห่งรัฐตั้งความหวัง เพื่อการดำเนินงานอย่างสูงสุดในอนาคต
ประเภทของการมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมโดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. การมีส่วนร่วมโดยตรง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การมีส่วนร่วมในการบริหารเป็นเรื่องที่ เกี่ยวกับการตัดสินใจเป็นสำคัญ ดังนั้น ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมโดยตรง เช่น ผู้บริหาร หัวหน้าโครงการการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ก็ตาม มักจะเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในรูปของกรรมการที่ปรึกษา ที่จะให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะ เพราะกิจกรรมบางอย่างอาจมี อุปสรรคไม่สามารถ แก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี จึงจำเป็นต้องให้บุคคลอื่นเข้ามาร่วมในการตัดสินใจ เพื่อให้ผลการ ตัดสินใจเป้นที่ยอมรับแก่คนทั่วไปหรือเกิดผลงานที่มีประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วมโดยตรงจึงมีสาระสำคัญอยู่ที่ว่า เป็นการร่วมอย่างมีระบบตามกระบวนการบริหาร มักทำเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องใดก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจาก การตัดสินใจร่วมกัน เป็นต้น
2. การมีส่วนร่วมโดยอ้อม การมีส่วนร่วมโดยอ้อมเป็นเรื่องของการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งให้บรรลุเป้าหมายอย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการบริหารแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น เช่น การบริจาคเงินทรัพย์สิน วัสดุอุปกรณ์ แรงงาน เข้าช่วยสมทบ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่ยินดีร่วมมือ เป็นต้น ลักษณะของการมีส่วนร่วม ลักษณะหรือรูปแบบของการเข้าไปมีส่วนร่วมนั้น สามารถพิจารณาได้หลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราจะสนใจในด้านใด บางท่านพิจารณาจากกิจกรรมที่เข้าไปมีส่วนร่วม เช่น การเลือกตั้ง การประชุมบางท่านก็พิจารณาในเชิงการบริหาร เช่น การมีส่วนร่วมในแนวราบ-แนวดิ่ง เป็นต้น อาร์นสไตน์ (Arnstien 1969 : 215-217; ชูชาติ พ่วงสมจิตต์, 2540 : 18 ) เห็นว่า การมีส่วนร่วมจะมีลักษณะมากน้อยเพียงใด ให้พิจารณาว่าผู้นำเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปร่วมในการใช้อำนาจและมีบทบาทในการควบคุมได้เท่าใด ซึ่งเป็นข้อบ่งบอกถึงภาวะผู้นำที่เป็นประชาธิปไตย (Democratic Leadership) ว่ามีสูงหรือต่ำ อาร์นสไตน์ได้ใช้อำนาจการตัดสินใจเป็นเกณฑ์ในการบ่งบอกการมีส่วนร่วมโดยสรุปเป็นขั้นบันได (Participation Ladder) 8 ขั้น และ ใน 8 ขั้น จัดได้เป็น 3 กลุ่ม หรือ 3 ประเภท ดังนี้
1. การมีส่วนร่วมเทียม หรือไม่มีส่วนร่วม
2. การมีส่วนร่วมพอเป็นพิธี หรือร่วมเพียงบางส่วน
3. การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คือ มีอำนาจและบทบาทมาก
เงื่อนไขของการมีส่วนร่วมในการบริหาร แม้ว่าการบริหารแบบมีส่วนร่วมจะเป็นที่ยอมรับและมีความสำคัญต่อการบริหารงานตาม วิทยาการสมัยใหม่ และนักบริหารทุกองค์กรต่างต้องการให้เกิดบรรยากาศการทำงานเช่นนี้ก็ตาม แต่บรรยากาศเช่นนี้มิใช่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ซึ่ง ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีความปรารถนาร่วมกันที่จะให้เกิดการมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมจึงจะเกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายไม่พึงปรารถนาจะให้เกิดการมีส่วนร่วม การมี ส่วนร่วมย่อมจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ จึงกล่าวได้ว่าปัจจัยทั้งสองดังกล่าวเป็นเงื่อนไขสำคัญของการมีส่วนร่วมในการบริหาร ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ผู้บริหารหรือผู้นำ นับว่าสำคัญที่สุดเป็นอันดับแรก เพราะถ้าหากว่าผู้บริหารไม่มี ความต้องการที่จะให้เกิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมแล้ว ก็คงยากที่จะเกิดบรรยากาศการทำงาน แบบประชาธิปไตย แม้ว่าผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาจะเรียกร้องก็ตาม แต่ถ้าผู้บริหาร มีบุคลิกและปรารถนาที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมแล้ว การมีส่วนร่วมในการบริหารย่อมเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ผู้บริหารจะต้องมีความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารงาน เพราะการจะนำวิธีการบริหารแบบมีส่วนร่วมมาใช้นั้น มิใช่ว่าจะใช้ได้ทุกสถานการณ์ บางครั้งนำไปใช้กับองค์กรหนึ่งแล้วเกิดความสำเร็จ แต่เมื่อนำไปใช้กับอีกองค์กรหนึ่งอาจำไม่ประสบผลสำเร็จก็ได้ ทั้งนี้ปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ เช่น เวลา สถานที่ ภาวะผู้นำ สถานการณ์ วิถีชีวิตของคนแต่ละสังคม เป็นต้น ดังนั้น ผู้บริหารหรือผู้นำจะต้องตระหนักในเรื่องเหล่นนี้และพิจารณาว่าในสถานการณ์ใดควรจะใช้เทคนิคการบริหารแบบใด
2.ผู้ปฏิบัติหรือผู้ตาม แม้ว่าผู้บริหารปรารถนาจะให้เกิดการมีส่วนร่วมในการทำงานเพียงใด ไม่ว่าจะสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยหรือออกคำสั่งก็ตาม แต่หากผู้ปฏิบัติหรือผู้ตามไม่เต็มใจ ไม่สนใจหรือไม่เห็นความสำคัญ การมีส่วนร่วมในการบริหารก็จะไม่เกิด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ ผู้บริหารที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานและวัตถุประสงค์ขององค์กร เช่น ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้เกิดผลงาน องค์กรจะอยู่ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพนักงานหรือผู้ตาม ถ้าหากไม่ร่วมมือไม่ทุ่มเทการทำงานให้แก่องค์กร องค์กรก็จะต้องสิ้นสลาย และเมื่อนั้นทุกคนในองค์กรก็จะหมดงานทำ เช่นนี้เป็นต้น ถ้าหากผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ตามเข้าใจในวัตถุประสงค์ ก็จะให้ความร่วมมือและทุ่มเทกำลังสติปัญญา ความสามารถเพื่อความเจริญก้าวหน้าขององค์กรเพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ต่างก็มีความรักและความผูกพันกับองค์กรเป็นทุกเดิมอยู่แล้ว การตบมือข้างเดียวไม่ดังฉันใด เปรียบได้กับผู้บริหารและพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่มีการประสานร่วมมือกันฉันนั้น ดังนั้นทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมีความตระหนักร่วมกันในสิ่งสำคัญดังกล่าว ผู้บริหารมีหน้าที่ใช้กลยุทธ์ในการสร้างบรรยากาศในองค์กรให้เกิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพิ่มสร้างเป็นวัฒนธรรม ในการทำงาน เมื่อบุคคลมีโอกาสแสดงความสามารถในศักยภาพของตนร่วมกำหนดเป้าหมายหรือ ร่วมตัดสินใจในการทำงาน ย่อมจะทำให้เกิดการผูกมัดในเชิงจิตวิทยา (Psyhological Commitment ) และจะเป็นพลังใจให้เกิดความกระตือรือร้นให้ภารกิจบรรลุเป้าหมาย มากไปกว่านั้นและจะเป็นผลให้องค์กรมีการพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าต่อไป ผลของการมีส่วนร่วม การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการรับทราบข้อมูลข่าวสาร กำหนดปัญหาและความต้องการของตนเองและการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ถ้าหากสามารถบริหารการมีส่วนร่วมได้อย่างเหมาะสมแล้ว การบริหารงานก็จะเกิดผลดีมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้าม หากเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมมากจนเกิดไปก็จะทำให้เกิดข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะหลากหลายตนเกินของเขต ซึ่งจะทำให้การ บริหารงานขาดประสิทธาท้ายที่สุดก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ว่าการมีส่วนร่วมนั้นจะกระทำโดยตรงหรือโดยอ้อมตลอดจนการเข้าไปมีส่วนร่วมในรูปแบบลักษณะใด ๆ ก็ตาม จะปรากฏผลเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1. การมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ (Constrructive Participation) คือการมีส่วนร่วมที่ทั้งสองฝ่ายต่างมองโลกไปในทางที่ดี พร้อมที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ด้วยการปรับทัศนคติเข้าหากันเกิดการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาและหาข้อยุติต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การร่วมมือร่วมใจบนพื้นฐานที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพึงพอใจ การมีส่วนร่วมในลักษณะนี้จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าและเป็นสิ่งที่สังคมพึงปรารถนา
2. การมีส่วนร่วมที่มีความขัดแย้ง (Conflicteve Particpation) คือการมีส่วนร่วมที่ทั้งสองฝ่ายมีอคติต่อกัน เป็นการมองโลกในแง่ร้าย เมื่อมีโอกาสเผชิญหน้ากันจะพยายามหักล้างความคิดซึ่งกันและกันโดยไม่มีการปรับทัศนคติเข้าหากัน จึงยากที่จะหาจุดร่วมให้เกิดความพึงพอใจกันได้ การร่วมมือร่วมใจจึงแอบแฝงไว้ซึ่งความไม่จริงใจต่อกันในการดำเนินกิจกรรม ความขัดแย้งเริ่มตั้งแต่มีคน 2 คนขึ้นไปทำงานร่วมกัน ดังนั้น ที่ใดมีสังคมมนุษย์ที่นั้นย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอ เพราะในแต่ละสังคมมีพื้นฐานหลายอย่างแตกต่างกัน เช่น เพศ วัย ความรู้ ความสามารถ อาชีพ ศาสนา วัฒนธรรม เป็นต้น ปรัชญาของความขัดแย้งเห็นว่าความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ไม่ควรจะหลีกเลี่ยงแต่เราต้องเผชิญกับมันและยอมรับว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดในการแก้ไขปัญหา จึงกล่าวได้ว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถ หลีกเลี่ยงได้ ความขัดแย้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางครั้งเป็นไปในทางสร้างสรรค์แต่บางครั้งก็เป็นการทำลาย ผู้บริหารคนใดเข้าใจสมมติฐานและกระบวนการของความขัดแย้งย่อมอยู่ในฐานะได้เปรียบในการแก้ไขปัญหาขององค์กรได้ดี การขจัดความขัดแย้งในภาวะการมีส่วนร่วม การขจัดความขัดแย้งในภาวะของการมีส่วนร่วมในการบริหารนั้น จะต้องพิจารณาว่าเกิดจากปัญหาใด อย่างไรก็ตามสามารถพิจารณาได้ดังนี้
1. นโยบายจะต้องมีความชัดเจนสามารถนำไปปฏิบัติได้
2. จัดหาทรัพยากรในการบริหารให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ
3. การแต่งตั้ง การเลือกสรรบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งจะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและ ให้เกิดความยุติธรรม
4. การประนีประนอม
5. หลีกเลี่ยงการขัดแย้ง
6. ระบบการสื่อความหมายจะต้องชัดเจน
7. ปรับเปลี่ยนอารมณ์ ค่านิยม ความเชื่อ ความคิดเห็น ให้เป็นไปในทางเดียวกัน ดังที่กล่าวกันว่า “ พูดภาษาเดียวกัน”

ผลดีของการบริหารแบบมีส่วนร่วม
1. เป็นการสร้างสรรค์ให้มีการระดมสรรพกำลังจากบุคคลต่าง ๆ เช่น พลังความคิด สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เป็นต้น
2. เป็นการสร้างบรรยากาศและพัฒนาประชาธิปไตยในการทำงาน
3. ช่วยให้ลดความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติงาน เพราะเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมีส่วนช่วยให้ประสานงานกันดี
4. การบริหารแบบมีส่วนร่วมจะทำให้งานมีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดี เพราะจะมี ความรับผิดชอบ
5. ผลงานที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจแก่บุคลากร เพราะทุกคนมีส่วนร่วม ในความสำเร็จของงาน
6. ช่วยให้การทำงานสำเร็จลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะมีการแบ่งหน้าที่กันทำ
7. สร้างความสมดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายปฏิบัติ
ข้อจำกัดของการบริการแบบมีส่วนร่วม แม้ว่าการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมจะมีข้อดีอยู่หลายประการก็ตาม แต่ก็มีข้อเสียและข้อจำกัดดังนี้
1. การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นในการบริหาร อาจเกิดความขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับฝ่ายบริหารซึ่งอาจทำให้กิจกรรมนั้นล่าช้าหรือล้มเหลวได้
2. การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการบริหาร อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ก่อให้เกิดกลุ่มอิทธิพลที่ใช้พลังของกลุ่มไปในทางไม่สร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้องขึ้นได้
3. ผู้บริหารบางคนคิดว่าการยอมให้ฝ่ายผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจและรับผิดชอบจะทำให้ตนเองสูญเสียอำนาจ
4. การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมไม่สามารถนำไปใช้กับงานที่เร่งด่วนได้ เพราะต้องใช้เวลามากในกระบวนการบริหาร เช่น การประชุมหลายครั้งเพื่อให้ได้ข้อยุติ
5. การมีส่วนร่วมในการบริหารงานบางกรณีต้องใช้งบประมาณมาก ดังนั้นต้องคำนึง ผลตอบแทนว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุกหรือไม่
6. การคัดเลือกผู้เข้ามาร่วมงาน ถ้าได้บุคคลที่ไม่มีความรู้ความสามารถและความเหมาะสมกับงาน อาจจะทำให้เกิดการเสียเวลาและยุ่งยากในภายหลัง
7. ความคิดเห็นของบุคคลภายนอกองค์กร โดยเฉพาะประชาชน อาจไม่ได้รับการยอมรับ เท่าที่ควร
8. การไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่มักจะทำให้เกิดการก้าวก่ายหน้าที่ซึ่งกันและกัน

กล่าวโดยสรุป การบริหารแบบมีส่วนร่วมนั้น มีตั้งแต่อดีตที่ยังไม่มีการศึกษาเป็นวิทยาการ ดังจะเห็นได้จากการสร้างกำแพงเมืองจีน พีระมิด หรือการก่อสร้างพระบรมมหาราชวังของไทย การมีส่วนร่วมบริหารจัดการได้มีพัฒนามาเป็นลำดับ ซึ่งมีทั้งแบบสร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีความรู้ ประสบการณ์ ค่านิยม วัฒนธรรมประเพณีแตกต่างกันจึงเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่จะใช้ภาวะของการเป็นผู้นำ ในการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ จึงจะทำให้การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมบรรลุเป้าหมายในที่สุด


การบริหารแบบมีส่วนร่วมมีพื้นฐานมาจากหลักของการกระจายอำนาจ ซึ่งหลักการนี้ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศของระบบประชาธิปไตย ก็คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เมื่อนำหลักประชาธิปไตยมาใช้กับการศึกษา จึงมีการกระจายอำนาจการบริหารไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในรูปของการบริหารแบบองค์คณะบุคคล อีกทั้งให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลมีอิสระในการบริหารงานพอสมควรแม้ว่าการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้จะอยู่ในวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล แต่บริบทและวิถีชีวิตวัฒนธรรมไทยอาจจะยังไม่พร้อม หลายท่านเป็นห่วงว่าจะเกิดความผิดพลาด เพราะถ้าอำนาจตกไปอยู่ในมือของผู้ที่ไร้คุณธรรม โดยไม่มีตัวแทนของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมหรือไม่มีการควบคุมที่ได้มาตรฐานแล้ว ย่อมจะเป็นก้าวใหม่ที่เกิดช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์หรือการเมืองเข้ามาก้าวก่าย จนทำให้ปรัชญาการศึกษาต้องเสียหาย อย่าลืมว่าการศึกษามิได้เป็นของผู้หนึ่งผู้ใดหรือเป็นของกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงผู้เดียว แต่การศึกษาเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษานับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเพราะทุกวันนี้สภาพสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนดูเหมือนระบบบางระบบของสังคมจะตามไม่ทันและยังไม่สอดคล้องผสมกลมกลืนที่จะอยู่รวมกันได้ ที่เห็นเด่นชัดก็คือ การอพยพแรงงานที่ทำให้สภาพครอบครัวล่มสลาย เพราะต้องจากถิ่นฐานเดิมและเปลี่ยนภูมิลำเนาอยู่บ่อย ๆ

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ข้อสังเกตจากการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในสถานศึกษา

ข้อสังเกตจากการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในสถานศึกษา
ข้อสังเกตจากการปฏิบัติงานด้านการเงิน บัญชี และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง
1. เงินคงเหลือที่มีอยู่จริงไม่ตรงกับรายงานเงินคงเหลือประจำวัน สาเหตุ
1.1 มีการบันทึกสัญญายืมเงินตามโครงการอาหารกลางวัน บันทึกเป็นเงินสดคงเหลือในมือ กรณีนี้ระบบการควบคุมการเงินของหน่วยงานย่อย พ.ศ.2544 ให้ตัดจ่ายการยืมเงินตามสัญญายืมเงินในทะเบียนคุมเงินโครงการอาหารกลางวัน
1.2 เมื่อมีการถอนเงินธนาคารเพื่อจ่ายให้เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน แต่ไม่ได้จ่ายภายในวันที่ถอนเงิน ทำให้มีเงินสดคงเหลือในมือ และไม่ได้บันทึกในทะเบียนคุมเงิน
กรณีนี้เงินสดที่ถอนมาเพื่อจ่ายแต่ไม่ได้จ่าย ให้บันทึกในทะเบียนคุมเงินเป็นเงินสดคงเหลือ และแสดงในรายงานเงินคงเหลือประจำวัน
1.3 สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่เปิดในนามโรงเรียน ไม่ได้แสดงในรายงานเงินคงเหลือประจำวัน ทุกบัญชี
กรณีนี้ต้องแสดงในรายงานเงินคงเหลือประจำวันให้ครบถ้วนทุกรายการ
1.4 ดอกผลจากสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ ไม่ได้นำมาบันทึก
กรณีนี้ต้องนำมาบันทึกในทะเบียนคุมเงินที่เกี่ยวข้อง โดยปรับสมุดเงินฝากธนาคารตามงวดของธนาคาร คือสิ้นเดือนมิถุนายนและสิ้นเดือนธันวาคม
1.5 มีการถอนเงินธนาคารโดยไม่คำนึงเศษสตางค์
* กรณีนี้การเขียนถอนเงินจากธนาคารให้เขียนทั้งจำนวนรวมทั้งเศษสตางค์*
2. ไม่จัดทำบันทึกการรับเงินเพื่อเก็บรักษา
กรณีสถานศึกษาไม่มีตู้นิรภัยในการเก็บรักษาเงิน ทุกครั้งที่มีเงินสดคงเหลือในมือ ให้เจ้าหน้าที่การเงินจัดทำแบบ “บันทึกการรับเงินเพื่อเก็บรักษา” พร้อมส่งมอบตัวเงินให้กับผู้บริหารทุกวันที่มีเงินสดคงเหลือในมือ
และผู้บริหารจะส่งมอบตัวเงินแก่เจ้าหน้าที่การเงินในวันทำการถัดไปเมื่อมีการเบิกจ่าย กรณีไม่มีความจำเป็นต่อการใช้จ่ายควรนำเงินฝากธนาคาร ให้ถือปฏิบัติตามระบบการควบคุมการเงินของหน่วยงานย่อย พ.ศ.2544
3. ยอดเงินคงเหลือตามรายงานเงินคงเหลือประจำวันไม่ตรงกับทะเบียนคุมเงิน
กรณีที่เจ้าหน้าที่การเงินและเจ้าหน้าที่บัญชีเป็นคนละคนกันหรือเป็นคนเดียวกัน ไม่ได้สอบทานระหว่างกัน หรือไม่ได้สอบทานกับสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ควรมีการสอบทานตัวเงินคงเหลือที่มีอยู่จริงกับทะเบียนคุมเงินที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อยเดือนละครั้ง
4. ดอกผลจากบัญชีเงินอุดหนุนทั่วไป ไม่ได้นำส่งรายได้แผ่นดินตามระยะเวลากำหนด
กรณีนี้ดอกผลจากบัญชีเงินอุดหนุนทั่วไป ให้นำส่งทั้งจำนวนรวมทั้งเศษสตางค์ ถือเป็นรายได้แผ่นดินต้องนำส่งคลัง ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่กค 0409.6/ว126 ลงวันที่ 7 กันยายน 2548 ซึ่งการนำส่งเงินรายได้แผ่นดินตามระเบียบฯ หากไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทให้ส่งอย่างน้อยเดือนละครั้ง
5. หลักฐานการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ได้บันทึกขออนุมัติเบิกจ่ายเงินก่อนการจ่ายเงิน
กรณีนี้ เจ้าหน้าที่การเงินไม่ได้บันทึกขออนุมัติเบิกจ่ายเงินจากผู้มีอำนาจอนุมัติก่อนการจ่ายเงินเมื่อ
เจ้าหน้าที่พัสดุดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและเสนอผู้มีอำนาจทราบและอนุมัติทุกขั้นตอนแล้ว ดังนั้น เจ้าหน้าที่การเงินต้อง
จัดทำบันทึกขออนุมัติเบิกจ่ายเงินก่อนการจ่ายเงินทุกครั้ง
6. หลักฐานการจ่ายที่เป็นใบเสร็จรับเงิน ไม่ได้ประทับตรา “จ่ายเงินแล้ว”
กรณีนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่การเงินจ่ายเงินให้เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน ได้รับหลักฐานการจ่ายเป็น
ใบเสร็จรับเงิน ให้ผู้จ่ายเงินลงลายมือชื่อรับรองการจ่ายพร้อมทั้งมีชื่อด้วยตัวบรรจงกำกับไว้ในหลักฐานการจ่ายเงินให้แก่
เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน และบันทึกวันที่ที่จ่ายเงิน เพื่อประโยชน์ต่อการตรวจสอบ ตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและ
นำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 23
7. การอ้างอิงเลขที่เอกสารหลักฐานการจ่ายในทะเบียนคุมเงิน ไม่ถูกต้อง
กรณีนี้ หลักฐานการจ่ายเมื่อมีการอนุมัติและจ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว ก่อนการลงบัญชีในทะเบียนคุมเงิน ให้กำหนดเลขที่ของเอกสารหลักฐานการจ่าย เช่น หากเป็นใบเสร็จรับเงินที่รับจากร้านค้า กำหนดรหัสเป็นบจ....../......
หากเป็นใบสำคัญรับเงินของส่วนราชการกรณีผู้รับเงินที่ไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินได้ เช่น หลักฐานการจ่ายค่าตอบแทน หลักฐานการจ่ายเงินทุน กำหนดรหัสเป็น บค....../......แล้วจัดลำดับเลขที่ตามวันที่จ่ายจนสิ้นปีงบประมาณตามประเภทของเงินที่ใช้จ่าย นำเลขที่ของหลักฐานการจ่ายดังกล่าวบันทึกในช่องที่เอกสารของทะเบียนคุมเงินแต่ละประเภท เช่น บจ.1/2551, บค.2/2551
8. การจัดเก็บหลักฐานขอเบิกที่จ่ายเงินแล้ว ไม่ได้แยกตามประเภทของเงินที่ใช้จ่าย
กรณีนี้ เมื่อหลักฐานขอเบิกมีหลักฐานการจ่ายและกำกับเลขที่เอกสารการจ่ายตามข้อ 7. แล้ว
เมื่อเจ้าหน้าที่บัญชีบันทึกบัญชีในทะเบียนคุมเงินเรียบร้อยแล้ว ให้จัดเก็บเข้าแฟ้มตามประเภทของเงินที่ใช้จ่าย ประกอบด้วยบันทึกขออนุมัติเบิกจากผู้มีอำนาจอนุมัติและหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายทั้งหมด ให้เรียงลำดับตามเลขที่หลักฐานการจ่าย เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้นภายหลัง เช่น เงินอุดหนุนรายหัว 1 แฟ้ม, เงินรายได้สถานศึกษา 1 แฟ้ม, เงินโครงการอาหารกลางวัน 1 แฟ้ม
9. ขาดการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรับจ่ายเงินประจำวันและไม่มีร่องรอยการปฏิบัติงาน
ตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ. 2520 ข้อ 20 และ 37 ให้ส่วนราชการจัดให้มีการตรวจสอบจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่จัดเก็บและนำส่งกับหลักฐานและรายการที่บันทึกไว้ในบัญชีเงินสดหรือบัญชีเงินฝากธนาคารว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากการตรวจสอบตามวรรคแรกปรากฎว่าถูกต้องแล้ว ก็ให้ผู้ตรวจแสดงยอดรวมเงินรับทั้งสิ้นตามใบเสร็จรับเงินทุกฉบับที่ได้รับในวันนั้นไว้ในสำเนา
ใบเสร็จรับเงินฉบับสุดท้ายและลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย และเมื่อสิ้นเวลารับจ่ายเงินให้ส่วนราชการจัดให้มีผู้ตรวจสอบรายการจ่ายเงินที่บันทึกไว้ในบัญชีเงินสด หรือบัญชีเงินฝากธนาคารกับหลักฐานการจ่ายในวันนั้น หากปรากฎว่าถูกต้องแล้ว
ให้ผู้ตรวจสอบลงลายมือชื่อกำกับยอดเงินคงเหลือในบัญชีนั้น ๆ
กรณีนี้ ควรให้มีร่องรอยการปฏิบัติงาน เช่น มีการรับเงินตามใบเสร็จแล้วมีการนำมาบันทึกบัญชีถูกต้องหรือไม่ โดยแสดงร่องรอยด้วยการลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินฉบับที่ตรวจสอบและลงลายมือชื่อในทะเบียนคุมเงิน หรือตรวจสอบจำนวนเงินตามหลักฐานการจ่ายกับทะเบียนคุมเงินว่าถูกต้องหรือไม่ โดยแสดงร่อยรอยด้วยการลงลายมือชื่อในทะเบียนคุมเงิน หรืออาจมีการตรวจนับตัวเงินสด ,บัญชีเงินฝากธนาคาร,เงินฝากส่วนราชการผู้เบิก,สัญญายืมเงินและ
ใบสำคัญรองจ่าย (กรณีหน่วยงานย่อย พ.ศ.2515) หรือตรวจนับตัวเงินสด ,บัญชีเงินฝากธนาคาร,เงินฝากส่วนราชการผู้เบิก (กรณีหน่วยงานย่อย พ.ศ.2544) ว่าตรงกับรายงานเงินคงเหลือประจำวันหรือไม่ โดยแสดงร่อยรอยด้วยการลงลายมือชื่อในเอกสารที่ตรวจสอบ
10. ขาดการรายงานฐานะทางการเงินต่อคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นลายลักษณ์อักษร
กรณีนี้ควรมีการรายงานฐานะทางการเงินต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และบันทึกรายงานไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อยภาคเรียนละครั้ง
สำหรับรายงานการรับ-จ่ายเงินรายได้สถานศึกษา ทุกสิ้นปีการศึกษาเสนอคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามประกาศ สพฐ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ อัตรา และวิธีการนำเงินรายได้สถานศึกษา ไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549

วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

เรื่องน่าอ่าน

เป็นเรื่องที่ดี ม๊าก มาก อ่านวันไหนก็รู้สึกว่าจะต้องทำอะไรขึ้นมาทันที โปรดอ่าน ดีมาก ๆๆๆ หลังจากที่แต่งงานมาได้ 21 ปี ผมก็ค้นพบวิธีใหม่ในการทำให้ความรักสดใสมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ เพราะวันหนึ่งภรรยาผมบอกว่า ผมต้องออกเดทกับผู้หญิงคนหนึ่ง มันเป็นไอเดียของเธอล้วน ๆ จริง ๆ นะ ' ฉันรู้ว่าคุณรักเธอ ' ภรรยาผมว่า ' แต่ผมรักคุณนี่ ' ผมเถียง ' ฉันรู้ค่ะ แต่คุณก็รักเธอคนนี้ด้วยเหมือนกัน ' ผู้หญิงคนนั้นที่ภรรยาอยากให้ผมไปหา คือ แม่ของผมเอง ซึ่งเป็นหม้ายมา 1 9 ปีแล้ว เนื่องจากงานที่รัดตัวแล ะต้องดูแลลูก ๆ ทำให้ผมไปเยี่ยมแม่เพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น วันที่ผมโทรไปหาแม่เพื่อชวนท่านออกไปทานข้าวเย็นและดูหนัง แม่ถามว่า ' มีอะไรหรือ ? ลูกสบายดีรึเปล่า ? ' แม่ผมเป็นผู้หญิงประเภทที่คิดว่าการที่คนโทรมาหากลางดึก หรือเชิญอย่างกระทันหัน หมายความว่ามีเรื่องไม่ค่อยดีเกิดขึ้น ผมตอบแม่ว่า ' ผมว่าดีออกถ้าเราได้ใช้เวลากันตามลำพังสองคน แม่ลูกบ้าง ' แม่นิ่งคิดไปครู่หนึ่ง แล้วตอบว่า ' แม่ยินดีมากเลยจ้ะ ' เย็นวันศุกร์หลังเลิกงาน ผมขับรถไปรับแม่ที่บ้าน ผมรู ้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย เมื่อผมไปถึงบ้านแม่ ผมก็สังเกตได้ว่า แม่เองก็ตื่นเต้นเหมือนกัน แม่สวมเสื้อโค้ทนั่งรอผมอยู่ในบ้านเรียบร้อยแล้ว แม่ม้วนผมแล้วสวมชุดที่แม่ใส่ในวันฉลองครบรอบการแต่งงานครั้งสุดท้าย พลางยิ้มรับผมด้วยใบหน้าที่แจ่มใสราวกับทูตสวรรค์ แม่บอกเพื่อนๆว่าแม่จะออกไปเที่ยวกับลูกชาย พวกเขาประทับใจกันใหญ่ ' แม่พูดขณะที่กำลังก้าวขึ้นรถ ' พวกเขารอฟังแทบไม่ไหวเลย ' เราไปภัตตาคารที่ถึงแม้จะไม่หรูหรา แต่ก็ดีเยี่ยม และบรรยากาศก็อบอุ่นสบาย ๆ มาก ๆ แม่ควงแขนผมเดินราวกับว่าเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง หลังจากที่เรานั่งลงเรียบร้อยแล้ว ผมต้องเป็นฝ่ายอ่าน เมนูอาหาร เพราะสายตาของแม่อ่านได้เพียงตัวหนังสือตัวใหญ่ ๆ เท่านั้น เมื่อผมอ่านเมนูอองเทรไปได้เพียงครึ่ง ผมเงยขึ้นมองเห็นแม่กำลังมองดูผมอยู่ด้วยรอยยิ้มระลึกถึงความหลัง ตอนที่ลูกยังเล็กนั้น แม่ต้องเป็นคนอ่าน เมนูให้ลูกฟัง ' แม่ว่า ' งั้นตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่ผมจะผลัดเวรให้แม่น ั่งฟังสบายๆบ้าง ' ผมตอบ ในระหว่างมื้ออาหารนั้น เราคุยกันอย่างถูกคอ - ไม่ใช่เรื่องราวพิเศษอะไร - เพียงแต่สลับกันถามว่าชีวิตของเรา เป็นยังไงทำอะไรที่ไหนมาบ้าง เราคุยกันสนุกมากจนไปดูหนังไม่ทัน เมื่อผมไปส่งแม่ที่บ้าน แม่พูดว่า ' แล้วแม่จะออกไปเที่ยวกับลูกอีกนะ แต่คราวนี้ลูกต้องยอมให้แม่เป็นเจ้าภาพนะจ๊ะ ' ผมตอบตกลง ' ดินเนอร์เป็นยังไงบ้าง ?' ภรรยาถามเมื่อผมกลับถึงบ้าน ' ดีเยี่ยมกว่าที่ผมคิดไว้มากเลย ' ผมตอบ ไม่กี่วันต่อมา แม่ผมเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน มันเกิดขึ้นกระทันหันมากจนผมช่วยอะไรไม่ทันเลย หลายวันต่อมา ผมได้รับจดหมายพร้อมใบเสร็จจากภัตตาคารที่ผมกับแม่เคยไป มีโน๊ตเล็กๆแนบมาด้วยว่า ' แม่จ่ายค่าอาหารชุดนี้เรียบร้อยแล้ว แม่รู้อยู่แล้วว่าแม่คงไปไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม่ก็จ่ายสำหรับสองคน คือลูกกับภรรยา ลูกคงเดาไม่ถูกหรอกว่าวันนั้นมีความหมายต่อแม่มากแค่ไหน , รักลูกจ้ะ ' วินาทีนั้น ผมเข้าใจถึงความสำคัญของการกล่าวคำว่า ' รัก ' ต่อคนที่เรารักในช่วงเวลาที่เค้าต้องการมัน ไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่าครอบครัวของคุณ จงให้เวลากับพวกเค้าในเวลาที่พวกเค้าต้องการคุณ เพราะสิ่งเหล่านี้ ไม่อาจผลัดวันประกันพรุ่งได้ บางคนบอกว่า หลังจากที่คุณคลอดบุตรแล้วต้องใช้เวลาราว 6 สัปดาห์จึงจะคืนสู่สภาพเดิม คนนั้นไม่รู้ว่าหลังจากที่คุณได้เป็นแม่คนแล้ว ไม่มีคำว่าคนเดิมอีกต่อไป บางคนบอกว่า คนเราเรียนรู้การเป็นแม่ได้เองตามสัญชาติญาณ คนนั้นไม่เคยพาลูกสามขวบไปซูเปอร์มาร์เกต บางคนบอกว่า การเป็นแม่คนนั้นน่าเบื่อ คนนั้นไม่ เคยนั่งรถที่ลูกวัยรุ่นขับหลังจากที่ได้ใบขับขี่มาหมาดๆ บางคนบอกว่า ถ้าคุณเป็นคนดี ลูกออกมาก็จะดีเอง คนนั้นนึกว่าเด็กคลอดออกมาพร้อมกับคู่มือการใช้และใบรับประกัน บางคนบอกว่า แม่ที่ดีไม่ควรขึ้นเสียงกับลูก คนนั้นไม่เคยเปิดประตูหลังบ้านออกมาทันได้เห็นลูกหวดลูกกอล์ฟเข้าใส่หน้าต่างครัวของเพื่อนบ้านพอดิบพอดี บางคนบอกว่า การเป็นแม่คนนั้นไม่ต้องมีการศึกษาก็ได้ คนนั้นไม่เคยช่วยลูกประถมสี่ทำการบ้านเลข บางคนบอกว่า แม่รักลูกคนที่ห้าไม่เท่าลูกคนแรก คนนั้นไม่เคยมีลูกห้าคน บางคนบอกว่า ช่วงที่ยากที่สุดของการเป็นแม่คือตอนเลี้ยงและตอนคลอด คนนั้นไม่เคยยืนดูลูกขึ้นรถเมลไปโรงเรียนอนุบาลวันแรก หรือขึ้นเครื่องบินไปบู๊ทแคมป์ของทหาร บางคนบอกว่า งานของแม่นั้นหมูๆ ปิดตาสองข้าง หรือมัดมือไว้ข้างหนึ่งก็ยังไว้ คนนั้นไม่เคยสอนการออกเดินขายคุ๊กกี้ให้กับเหล่ายุวนารี 7 คนที่กระจุ๊กกระจิ๊กคิกคักกันอยู่ตลอดเวลา บางคนบอกว่า แม่เลิกกังวลได้แล้ว หลังจากที่ลูกแต่งงานออกเรือนไป คนนั้นไม่รู้ว่าการแต่งงานคือการนำลูกชายหรือลูกสาวคนใหม่เข้ามาอยู่ในสายใยใจของแม่ บางคนบอกว่างานของแม่สิ้นสุดลงเมื่อลูกคนสุดท้ายออกจากบ้านไป คนนั้นไม่เคยมีหลานยาย หรือหลานย่า บางคนบอกว่า แม่รู้ดีอยู่แล้วว่าคุณรักท่าน เพราะงั้น ไม่ต้องบอกท่านก็ได้ คนนั้นไม่เคยเป็นแม่คน โปรดส่งต่อถึงทุกคนที่เป็น ' แม่ ' และทุกคนที่มี ' แม่ '

รายงานนวัตกรรม

แบบรายงานนวัตกรรม

=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-
1. ชื่อนวัตกรรม การช่วยเหลือซึ่งกันและกันของกลุ่มครอบครัวเด็กที่มีพัฒนาการช้า
2. นวัตกรรมด้าน การพัฒนา
3. ความเป็นนวัตกรรม
ในการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก การดูแลด้านจิตใจของครอบครัวนับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะครอบครัวที่มีบุตรพัฒนาการช้า หรือมีภาวะปัญญาอ่อนย่อมทุกข์ใจ เสียใจ ผิดหวังและวิตกกังวล หากไม่สามารถปรับตัวปรับใจให้ผ่านช่วงวิกฤตไปได้ ย่อมเกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจที่จะดูแลบุตร ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการฝึกพัฒนาการทำให้เด็กพัฒนาการไม่ก้าวหน้าตามที่ควร ดังนั้นบิดามารดาและคอบครัวของเด็กเหล่านี้จึงควรไดรับความช่วยเหลือประคับประคองจิตใจ เพื่อให้สามารถที่จะเผชิญกับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้
4. กระบวนการได้มาซึ่งนวัตกรรม
4.1 วัตถุประสงค์เป้าหมาย
เพื่อให้ครอบครัวที่มีบุตรพัฒนาการช้าได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเลี้ยงดูบุตรและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ในการดูแลบุตรในทางที่ถูกต้องเหมาะสม
4.2 การออกแบบนวัตกรรม
- .ให้ความรู้บุคลากรและพัฒนาทักษะในการทำกลุ่ม
- เชิญชวนครอบครัวอาสาสมัครที่มีบุตรพัฒนาการช้าเข้าร่วมทึม
- ประชุมทุกวันพุธที่ 3 ของเดือน
- จัดกิจกรรมพิเศษได้แก่ จัดประชุมวิชาการให้ความรู้ครอบครัว ปีละ 2 ครั้ง
- จัดทำจุลสาร “สายใยไออุ่น” และจัดงานพบปะสังสรรค์ ปีละ 2 ครั้ง
4.3 การนำสู่การปฏิบัติ
- จัดกิจกรรมค่ายสำหรับเด็กที่มีพัฒนาการช้า เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก
5. คุณค่าของนวัตกรรม
- ได้เรียนรู้และฝึกทักษะการทำกลุ่มระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับครอบครัวของเด็กที่มีพัฒนาการช้า
- ได้รับรู้ปัญหาของครัวเด็กที่มีพัฒนาการช้า และสามารถนำมาพัฒนาให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันของครอบครัวและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป