วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

**ชีวิตยังมีทิศตะวันออก**


บ่อยครั้งที่ชีวิตผิดพลาด..ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่
เรามักจะเอาสมาธิไปจดจ่ออยู่กับความผิดพลาดนั้น
ซ้ำเติมตัวเองให้ทุกข์...ให้เสียใจ...
และพยายามจะสร้างคำถามเพื่อค้นหาคำตอบให้ตัวเองอยู่เสมอ
ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่าคำตอบที่สร้างขึ้นมานั้น มัน "ไม่ใช่ความจริง"...
ที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากความเสียใจนั้นได้เลย...
เราจึงยอมติดกับดักความเสียใจอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
และกลายเป็นทาสของมันอย่างรู้ตัว...
รู้ว่าเสียใจแต่ก็ไม่ทำให้อะไรมันดีขึ้นมา
และเราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้
แต่ทำไมเรายังเป็นทุกข์กับการเลือกที่จะเสียใจ
และทำชีวิตให้มันแย่ลงกว่าเดิมทุกวันๆ...
ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่ารสชาติของมันสุดแสนจะขมขื่นมากมายเพียงใด
เพราะ " เราเริ่มต้นใหม่ไม่เป็น"...
เราเลยยังทุกข์ระทมไปกับความผิดพลาดของชีวิต
สิ้นสุดแล้วแต่ก็เริ่มต้นใหม่ไม่ได้...
ไปไม่เป็น...เหมือนจะมองเห็นทาง...
แต่ก็เลือกที่จะปิดหู ปิดตา และไม่พยายามจะเปิดใจ
เราจึงต้องอยู่กับความเศร้าเสียใจอยู่ทุกคืนทุกวัน
ตอกย้ำความผิดพลาดให้ตัวเองอยู่อย่างนั้น...
ลองมองดูวิถีดอกทานตะวันบ้างสิ..ชีวิตมีแต่ความเบิกบาน
เพราะรู้จักที่จะใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กับแสงตะวัน
แสงสว่างที่ส่องนำทางให้ชีวิตทุกชีวิต..."ยังคงมีชีวิต"...
แม้ยามที่ดอกทานตะวันร่วงโรย...
ก็ยังคงทิ้งเมล็ดพันธุ์ให้เจริญเติบโต...
งอกงามและรับแสงตะวันได้ใหม่อีกครั้ง
เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ปิดตัวเอง...
แล้วจมอยู่กับความคิดที่ว่าชีวิตต้องเริ่มต้นใหม่ไม่ได้
อย่าทำร้ายตัวเองด้วยการเศร้าเสียใจ...
แล้วปล่อยให้ชีวิตมันไหลไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีคุณค่าและไร้จุดมุ่งหมาย...
จงใช้ชีวิตให้เป็นดั่งเช่นดอกทานตะวัน...
แม้ยามผิดพลาด เสียใจ ก็จะมีทางออกของชีวิตเสมอ
อับจนหนทางอย่างไร แสงสว่างจากดวงตะวัน
ก็จะคอยส่องทางให้เราได้พบเจอทางออก
"ชีวิตเราจึงมีทางออก ตราบใดที่บนโลกใบนี้ยังมีทิศตะวันออก"...
แม้ว่าชีวิตจะยังมืดมน จะยังคงจมอยู่กับความผิดพลาด เศร้าใจ
ก็จงเศร้าให้ถึงที่ สุด เสียใจ ก็จงเสียใจเสียให้พอ
หากยังร้องไห้ ขอให้ระบายน้ำตาออกมา อย่ากักเก็บมันไว้ ...
เมื่อเราเสียใจอย่างถึงที่สุดแล้ว เราต้องกล้าลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง
และพร้อมที่จะเป็นคนใหม่ ที่ใช้บทเรียนจากอดีต...
เป็นเหมือนเข็มทิศคอยช่วยบอกทางแก่ชีวิต เพราะ...
" ความเศร้านั้นมีข้อดีข้อเสียในตัวมันเอง
ข้อเสียคือทำให้เราโศกาอาดูร
แต่ข้อดีของมันคือ...
สอนให้เรารู้ว่าเราจะไม่ผิดพลาดตรงนี้อีก
เราจะต้องไม่ร้องไห้ให้กับมันอีก..."
ใครบางคนเคยบอกเอาไว้ตอนที่เสียใจกับความผิดพลาดของชีวิต...
เพราะฉะนั้นแล้วเกิดเป็นคน มีความรู้สึกรู้สาเหมือนกันหมด
สามารถเศร้าเสียใจกับอดีตที่ผิดพลาดได้เหมือนกันหมด
และก็เริ่มต้นใหม่เหมือนกันหมดเช่นเดียวกัน...
ขอเพียงกล้าที่จะเป็นนกปีกหักที่พร้อมจะรักษาตัวเอง
และออกเดินทางได้โดยไม่กลัวว่าหนทางข้างหน้า...
จะผิด พลาดซ้ำสอง อย่าลืมนะว่า ...
" เรามีโอกาสผิดพลาดได้บ่อยครั้งเท่าไหร่ เราก็เดินถูกทางมากขึ้นเท่านั้น..."

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การเขียนบทความรายงานการวิจัย

การเขียนบทความรายงานการวิจัย
เป็นการเขียน หรือนำเสนอรายงานการวิจัยด้วยการเขียนในรูปแบบบทความตามแบบมาตรฐานนิยม หรือในรูปแบบที่วารสารวิชาการแต่ละสถาบันกำหนด
ผู้เขียนบทความรายงานการวิจัย อาจเป็นผู้วิจัย หรือ เจ้าของงานวิจัยเอง หรือผู้เขียนนำรายงานการวิจัยของผู้อื่นมาเรียบเรียงนำเสนอในรูปแบบบทความก็ได้
ส่วนประกอบของบทความรายงานการวิจัยแบบสรุปสาระสำคัญของรายงานการวิจัยแบบรูปเล่ม มี ส่วนประกอบ ดังนี้
1. ชื่อรายงานการวิจัย
2. ชื่อ นามสกุล ผู้วิจัย
3. บทคัดย่อ (ภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ)
4. ความเป็นมา และความสำคัญ
5. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
6. ขอบเขตของการวิจัย
7. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
8. นิยามศัพท์
9. วิธีดำเนินการวิจัย
10. สรุปผลการวิจัย
11. อภิปรายผล หรือข้อวิจารณ์
12. ข้อเสนอแนะ
13. บรรณานุกรม/เอกสาร และสิ่งอ้างอิง
14. ระบบการอ้างอิงแบบแทรกปนไปกับเนื้อหา นิยมใช้ระบบ นาม ปี อ้างอิงแบบเชิงอรรถ รวมรายการอ้างอิงไว้ที่หน้าสุดท้ายของเนื้อหาบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การบริหารแบบมีส่วนร่วม

การบริหารแบบมีส่วนร่วม

ความหมายและความสำคัญของการบริหารแบบมีส่วนร่วม
“การบริหาร” ความหมาย คือ กระบวนการวางแผน การจัดองค์การ การสั่งการและการควบคุม การปฏิบัติการในองค์การ และการใช้ทรัพยากรอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กร หรืออีกความหมายหนึ่ง คือ กระบวนการทำงานเพื่อก่อให้เกิดการทำงานที่เป็นผลสำเร็จด้วยการใช้บุคคล และทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุซึ่งเป้าหมายของความต้องการ

“การมีส่วนร่วม” ความหมาย คือ ทรัพยากรในการบริหารที่เป็นส่วนของบุคคลในแต่ละระดับการปฏิบัติมีส่วนในกระบวนการวางแผน การจัดองค์กร การสั่งการ และควบคุมการปฏิบัติในแต่ละส่วน ๆ อย่างเต็มความสามารถ ทั้งในทิศทางเพื่อการปฏิบัติด้านเดียว หรือการนำเสนอซึ่งความคิดในการดำเนินการตามกระบวนการนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

“การบริหารแบบมีส่วนร่วม” จึงหมายถึง การที่บุคคลในองค์กรหรือต่างองค์กรได้ร่วมกันเพื่อจัดการงานให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จ ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมนั้น ๆ จะอยู่ในขั้นตอนใด ๆ ก็ตาม โดยขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ข้อจำกัดขององค์กรในแต่ละกระบวนการของการดำเนินการบริหารเป็นเกณฑ์
บุคคลในการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารงานหรือการจัดการงาน สามารถที่จะแยกได้
กว้าง ๆ คือ
- ภายในองค์กร จะประกอบด้วย ผู้บังคับบัญชา (ผู้บริหารระดับสูง) ผู้บริหารระดับกลาง (กลุ่มงานต่าง ๆ) และผู้ปฏิบัติ (คนงาน ผู้ทำงานระดับล่าง) สายสัมพันธ์ของบุคคลในองค์กรจะเป็นไป ตามลักษณะบังคับบัญชาตามลำดับ โดยทั่วไปขององค์กรแล้วจะมีข้อกำหนดไว้เป็นแนวทางอย่างชัดเจน ซึ่งทุกระดับต้องปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการเสมอ การมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการในองค์กรจึงเป็นในทิศทางเพื่อการปรับปรุง พัฒนา หรือแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องของการดำเนินการในแต่ละองค์ประกอบ ความจำเป็นของการมีส่วนร่วมอาจไม่ทั้งหมดของบุคคลในทุกระดับ อาจเฉพาะเพียงแต่ในระดับเดียวกันเท่านั้น หรือเหนือขึ้นไปในระดับหนึ่งก็เป็นไปได้ ลักษณะการมีส่วนร่วมของการจัดการหรือบริหารภายในองค์กรมีรูปแบบต่าง ๆ
ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม รูปแบบเบื้องต้นก็คือการเสนอเช่นข้อคิดเห็นเป็นเอกสาร ผ่านกระบวนการสอบถามหรือโดยส่งเอกสาร
- ต่างองค์กร จะประกอบด้วยในหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่จัดกระทำในระดับผู้บริหารระดับสูง การมีส่วนร่วมจะเป็นในรูปของการให้ความเห็นข้อคิด แลกเปลี่ยนหรือสนับสนุนเพื่อการจัดการ หรือระดับผู้ปฎิบัติก็เป็นในทิศทางของการจัดการร่วมกันในกิจกรรมอย่างเดียวกัน ทั้งนี้โดยผลประโยชน์ขององค์กรทั้งสองต้องไม่ขัดแย้งหรือมีการสูญเสียผลประโยชน์ต่อกันในรูปใด ๆ
ในการมีส่วนร่วมของบุคคลในระบบราชการจะเห็นได้ว่ามีในหลายลักษณะเช่นเดียวกับรูปของ องค์กรในปัจจุบัน กรณี ภารกิจการดำเนินการของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ต้องมีบทบาทและหน้าที่สัมพันธ์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคลในสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดต้องเป็นผู้มีภารกิจหน้าที่เพื่อการสำรวจออกแบบประมาณการต่องานขององค์กรปกครองท้องถิ่นหรือ (อบต.) เพื่อโครงการถ่ายโอนกิจกรรมบริการสาธารณะต่าง ๆ การก่อให้เกิดความมีส่วนร่วมของบุคคลในท้องถิ่น จะเป็นผลให้การปฏิบัติงานตามภารกิจบรรลุเป้าหมายโดยสมบูรณ์ กลไกต่าง ๆ ในกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องที่ต้อง ดำเนินการอย่างมาก
ความสำคัญของการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม
เป็นเหตุผลที่จำเป็นต่อการบริหารหรือการจัดการองค์กร คือ
1) ก่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในการปฏิบัติงานที่มุ่งหวัง
2) กระบวนการตัดสินใจสามารถรองรับพฤติกรรมของบุคคลในองค์กรได้กว้างขวางและเกิดการยอมรับได้
3) เป็นหลักการของการบริหารที่เป็นผลต่อการดำเนินการเชิงวิเคราะห์ด้วยเหตุผลวิวัฒนาการ เพื่อความคิด (การเปิดกว้าง) การระดมความคิด (ระดมสมอง) ซึ่งนำไปสู่ การตัดสินใจได้
4) ลดช่องว่างของระบบการสื่อสารในองค์กรและขจัดปัญหาความขัดแย้งได้
ปรัชญาการบริหารแบบมีส่วนร่วมได้ดังนี้

1. การบริหารแบบมีส่วนร่วมเป็นการทำงานในบรรยากาศแบบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและการตัดสินใจในกระบวนการบริหาร
2. โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย สติปัญญา ความสามารถ เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ทำให้มีสามารถกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ด้วยคน ๆ เดียว จึงต้องมีการร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาในข้อจำกัดดังกล่าว
3. การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการบริหารจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้การทำงานมีประสิทธิภาพสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะเป็นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความผูกพันทั้งด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมที่มีต่อกิจกรรมนั้น ๆ จึงทำให้การลงทุนมีความเสียงน้อย
จากปรัชญาทั้ง 3 ประการนี้ จึงเป็นแนวทางในการดำเนินงานที่จะก่อให้เกิดผลดีในกิจกรรมต่าง ๆ และเป็นกลวิธีประการหนึ่งในการบริหารงานในทำนองที่ว่า “หัวเดียวกระเทียมลีบ” หรือ “สองหัวดีกว่าหัวเดียว” หรือ “สองแรงแข็งขัน” ดังนั้น มนุษย์จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน สหกรณ์ สมาคม ชมรม การเมือง การศึกษา เป็นต้น
การมีส่วนร่วมของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในองค์กรของการปฏิบัติงานใด ๆ จะปรากฏบุคคลในระดับต่าง ๆ ปฏิบัติงานเพื่อการนั้น ๆ โดยสังเขป อาทิ ผู้นำองค์กร
ผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ หัวหน้าสำนักงาน , ผู้จัดการ หรือประธานกรรมการ- บริษัท ฯลฯ
ผู้บริหารระดับกลาง ได้แก่ หัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ผู้ช่วยผู้จัดการ , กรรมการบริหาร ฯลฯ
ผู้บริหารระดับต้น อาทิ หัวหน้างาน , วิศวกรโครงการ
หัวหน้าโครงการ ฯลฯ ผู้ปฏิบัติงาน อาทิ ธุรการ , การเงิน ฯ วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ
กลุ่มผู้ใช้แรงงานอื่น ๆ อาทิ ภารโรง , คนงาน ฯลฯ และประชาชนที่อาจเกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะ
การปฏิบัติงานขององค์กรโดยทั่วไปจะเป็นไปโดยการแบ่งแยกหน้าที่มีการงานแต่ละแผนก ฝ่าย กอง หรือ หน่วยงานตามคำสั่งมอบหมายหน้าที่การงาน หรือแผนภูมิรูปแบบการจัดองค์กรของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งมีแยกต่างกันทั้งราชการหรือเอกชน การปฏิบัติงานเชิงคำสั่งหรือแผนภูมิเหล่านั้นเป็นลักษณะของการสั่งการ จะเป็นทั้งรูปแบบประสานจากเบื้องบนลงล่าง หรือจากเบื้องล่างสู่บน หรือในระดับเดียวกันได้เสมอ พฤติกรรมการปฏิบัติลักษณะแนวสั่งการนี้เป็นเรื่องปกติ โดยมีพื้นฐานจากหลักองค์กรที่ได้วางไว้ การพัฒนาหรือการประสบความล้มเหลวหรือการประสบความสำเร็จของงานในองค์กรเป็นสิ่งที่สามารถมองออกและมองได้ โดยการทำงานเชิงบุคคลเป็นสำคัญ แนวเปลี่ยนผ่านซึ่งความสำเร็จใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยการเสนอความคิด และร่วมกระทำ กระทำได้แต่ไม่สอดรับเท่าที่ควร การจัดกระทำเพื่อองค์กรให้มีการพัฒนาและเร่งรัดจะต้องก่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม องค์กรที่มีส่วนร่วมต่อกันของบุคคลหรือคนในองค์กรมีข้อโยงยึดถือความคิดเห็นในทิศทางของ

1) ลักษณะของปัญหาหรือความต้องการที่จะแก้ไขหรือตัดสินใจ บนพื้นฐานของบุคคลที่รับรู้
2) การเรียนรู้ว่าสิ่งที่เป็นความต้องการเพื่อแก้ไขหรือข้อมูลของปัญหามีที่มาและอยู่ในทิศทางใด
3) การนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเหตุและผลซึ่งเป็นการระดมจาก ความคิดบุคคล เอกสาร หรือข้อเสนอหรือข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
4) การประเมินผลลัพธ์ว่ามีความเป็นไปได้อย่างไรมีข้อจำกัดหรือมีความเสี่ยงอย่างไร และ
5) การตัดสินใจของผู้บริหาร การหาทางเลือกในการตัดสินใจ เหตุผลของการตัดสินใจ และผลลัพธ์ที่ได้
ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องมาจากความคิดในบุคคลทุกระดับร่วมกันเสนอหรือให้ข้อมูลหรือวินิจฉัยเป็นมูลฐาน
แนวทางการสร้างและสนับสนุนการมีส่วนร่วม
ในการบริหารงานขององค์กรใด ๆ นั้น มีรูปแบบอยู่หลายสถานะ สิ่งที่จะส่งผลต่อการเกิดบรรยากาศเพื่อทุกคนและยังไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายที่ต้องการนั้น มีความจำเป็นในทิศทางของการสร้างและสนับสนุน คือ
การพัฒนาความรู้สึกรับผิดชอบ ซึ่งเป็นการที่บุคคลในฐานะต่าง ๆ ต้องก่อความรู้สึกและสร้างแรงกระตุ้นต่อบุคคลอื่น ๆ ให้มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ บนพื้นฐานแห่งความที่บุคคลมีความมั่นใจว่าเหตุและผลทางความคิดจะได้รับการสนับสนุน
การริเริ่มลักษณะแห่งพฤติกรรมบุคคล เป็นข้อคิดแห่งการสร้างรูปลักษณ์ของการแสดงออกของบุคคล ลดและขจัดปมความคิดแย้งหรือความขลาดกลัวจากพฤติกรรมบุคคลให้ลดน้อย สร้างความกล้าต่อการแสดงออก
การเปิดโอกาสเพื่อการแลกเปลี่ยน ย่อมเป็นผลดีต่อกลุ่มและบุคคลได้ในระดับกระทำ เพราะโอกาสเพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใด ๆ หรือประสบการณ์มักถูกปิดกั้นด้วยคำสั่งหรือความคิดเบื้องบน การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนย่อมส่งผลต่อเหตุและผลในการพัฒนาความคิดต่าง ๆ ได้
การสนับสนุนแนวความคิดที่สามารถเป็นแบบอย่างได้ ซึ่งการสนับสนุนแนวคิดเหล่านั้นสามารถดำเนินการในทิศทางของงบประมาณหรืออื่นใดเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลแห่งการสร้างสถานะบุคคลให้ไว้วางใจองค์กรให้ความร่วมมือต่อองค์กรได้มาก
สถานการณ์เพื่อการบริหารหรือจัดการ ผู้บริหารต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในการจัดการงานด้วยเสมอ เพื่อผลสูงสุด การเลือกแบบการบริหารใด ๆ ย่อมส่งผลต่อการมีส่วนร่วมได้ ปัจจุบันการบริหารส่วนใหญ่ มุ่งแบบการมีส่วนร่วมเพราะเป็นการเปิดโอกาสแห่งบรรยากาศการริเริ่มสร้างสรรค์
การมองหาความคิดเฉพาะในส่วนที่ดี เป็นมุมมองของการบริหารที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ว่าเมื่อบุคคลใดเสนอแนวคิดเพื่องานแล้วควรได้เห็นความเหมาะสมและทิศทางการเสนอของบุคคลอื่น ๆ ด้วยดี มิใช่มุ่งแนวทางเพื่อความขัดแย้งหรือสร้างฐานการไม่ยอมรับให้เกิดขึ้น
จูงใจให้เกิดการสร้างกระบวนการความคิดให้เกิดในทุกกลุ่มงาน การสร้างแรงจูงใจย่อมเป็นผลต่อบุคคลที่ก้าวมาสู่การต้องการมีส่วนร่วมเสมอหากผลตอบแทนเหล่านี้มีคุณค่าและประโยชน์ต่อตน ทั้งนี้ย่อมขึ้นกับปฏิกิริยาของบุคคลโดยรวมขององค์กรด้วยว่าจะทำให้ได้เพียงใด
ขั้นของความสำเร็จที่ส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมและบุคคลยอมรับ อาจได้แก่
- การเรียนรู้ในกิจกรรมของตนหรือหน้าที่ของตนเองอย่างต่อเนื่อง เป็นผลต่อความรู้สึกในการอยากรู้ อยากเข้าใจ และอยากเข้าไปมีส่วนร่วม (เป็นการทำการบ้านเพื่อตนเอง)
- สไตล์การทำงานของแต่ละบุคคล เป็นโอกาสของการเลือกเพื่อให้ตนเองก้าวต่อไปหรือได้รับการสนับสนุน
- ความมีอารมณ์ที่มั่นคง
- การยอมรับจุดอ่อนของตนเอง หรือความบกพร่องต่าง ๆ ของตนเอง
- รู้ตนเอง (จุดแข็งที่มีอยู่หรือศักยภาพของตนเอง)
- มีความคิดเห็นในเชิงทะเยอทะยาน โดยเป้าหมายเป็นจุดน่าทดลองเสี่ยงเพื่อความสำเร็จในงานของตนเอง
- สร้างข่ายงานได้ โดยมีการพึ่งพาต่อกัน ทั้งเพื่อน , ผู้บังคับบัญชา หรือ ผู้ใต้บังคับบัญชา
- เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่มว่ามีขั้นตอนอย่างไร
- เรียนรู้ที่จะเงียบ และ
- ถือสัตย์ เป็นแบบแผนการทำงาน

คุณสมบัติของบุคคลเพื่อการมีส่วนร่วม
1. หาแนวคิดและวิธีการในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเสมอตลอดเวลา
2. แสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเอง
3. รู้จักใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
4. วางแผนไว้ล่วงหน้าโดยมีระยะเวลา
5. มีทัศนคติที่ดีต่องานที่ทำ
6. เป็นสมาชิกที่ดีและเป็นผู้นำที่ดีด้วย
7. สร้างแรงกระตุ้นต่อตนเองและรู้ว่าอะไรคือแรงจูงใจ
8. รู้งานทุกส่วนและหน้าที่อย่างดี
9. มีมนุษยสัมพันธ์ดี
10. สำนึกถึงการสูญเปล่าและรู้ต้นทุน
11. แสวงหาแรงจูงใจที่ไม่มีเงินเกี่ยวข้อง
12. ปรับและรับฟังความคิดเห็นได้ในทุกระดับ
13. สนใจงานที่ทำแทนการพยายามหางานทำที่สนใจ
14. มีความสม่ำเสมอ
15. เชื่อว่าการทำงานเป็นผลให้ฉลาดและไม่เป็นเรื่องหนักงาน
16. ไม่บ่น
17. ทำงานได้ดีกว่ามาตรฐาน
18. นิสัยในการทำงานที่ดี
19. เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เร็วและทันสมัย
20. มีประวัติดีและก่อผลงานสม่ำเสมอ

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมของบุคคลในองค์กร สิ่งที่มีผลต่อการก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุด คือ แรงจูงใจ และภาวะของบุคคล (ผู้นำ)
แรงจูงใจ คือ สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้น เพื่อก่อให้เกิดการกระทำของพลังในบุคคลส่งผลต่อการแสดงซึ่งพฤติกรรมและวิธีการในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักที่ต้องการ เพราะแรงจูงใจมีผลต่อกระบวนการทำงานของคนในทิศทางแห่งประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่ต้องการ
ลักษณะของแรงจูงใจจะแสดงออกได้โดยลักษณะพฤติกรรมซึ่งมีหลายทิศทางขึ้นอยู่กับบุคคล และ ขึ้นกับธรรมชาติแห่งความต้องการของบุคคลด้วย ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาโดยเป็นไปตามความปรารถนา ความคาดหวัง และจุดมุ่งหมายต่าง ๆ ของตนเอง
ความสำคัญของแรงจูงใจต่อกระบวนการมีส่วนร่วม มีคำกล่าวว่า “ผู้บริหารที่ดี คือ ผู้ที่สามารถทำงานให้สำเร็จได้โดยผู้ร่วมงาน” หมายถึง การที่องค์กรหรือผู้บริหารขององค์กรต้องให้ความสำคัญ และนำมาใช้ในกิจการต่าง ๆ ของงาน เพื่อส่งผลให้
1) การร่วมมือร่วมใจเพื่องาน
2) ความจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อองค์กร
3) เกื้อหนุนให้เกิดระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อผลในการกำกับควบคุมคนในองค์กร
4) การเกิดความสามัคคีในองค์กรหรือกลุ่ม
5) เข้าใจต่อนโยบายและวัตถุประสงค์ร่วมกันของบุคคลในองค์กร
6) สร้างความคิดใหม่เพื่อองค์กร
7) มีศรัทธาความเชื่อมั่นต่อตนเองและกลุ่ม
ภาวะผู้นำ มีผลต่อการมีส่วนร่วมขององค์กรหรือบุคคลในองค์กร ในทิศทางของกระบวนการตัดสินใจ เพราะการมีแรงจูงใจให้ปฏิบัติหรือการมีส่วนร่วมให้ปฏิบัติใด ๆ หากกระบวนการตัดสินใจไม่เป็นผลแล้ว ยังส่งผลต่อการที่ไม่บรรลุความสำเร็จได้ การตัดสินใจในระดับผู้นำขึ้นอยู่กับ
- ความเชี่ยวชาญ คือการย่อมรับและให้ความร่วมมือ
- ความดึงดูดใจ คือเหตุผลทางอารมณ์และอิทธิพลซึ่งเป็นพรสวรรค์เฉพาะตัว


ปัญหาและข้อจำกัดของการบริหารแบบมีส่วนร่วม
สิ่งที่ไม่เป็นผลต่อความสำเร็จของการบริหารงานการมีส่วนร่วม คือ
1) ลักษณะการสื่อสารในองค์การและระหว่างบุคคลไม่เหมาะสม
2) พฤติกรรมหรือแรงจูงใจต่อบุคคลไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม
3) ผู้นำมีปัญหา

ลักษณะการสื่อสารในองค์การและระหว่างบุคคลไม่เหมาะสม ลักษณะทั่วไปของสื่อที่ไม่เหมาะสมจะเกิดจาก
1) การมีข้อมูลหรือการมีคำสั่งที่ถ่ายทอดไม่ชัดเจน เป็นผลให้ผู้รับฟังข้อมูลหรือได้รับคำสั่ง ขาดความเข้าใจ หรือไม่เข้าใจทำให้นำไปสู่การปฏิบัติได้ไม่ดี
2) การรับข่าวสารหรือข้อมูลเอกสาร ต้องมีการตีความ ทำให้การปฏิบัติเป็นข้อโต้แย้งหรือถกเถียง ผลของการโต้แย้งหรือถกเถียง ไม่สามารถนำไปสู่การตัดสินใจได้ดีทำให้ความร่วมมือลดลงหรือขาดหายไป
3) มีผู้ก่อกวน อาจเป็นตัวเอกสารที่มีการสั่งการขัดกันเองหรือมีผู้ปฏิบัติที่มีปฏิกริยาขัดแย้งชี้นำการปฏิบัติ ผลคือการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ลดบทบาทความร่วมมือไป
4) ทิศทางการสื่อสารของบุคคลในองค์กร ซึ่งจะมีการสื่อต่อกันได้ทั้งในแนวบนลงล่าง จากล่างขึ้นบนหรือในแนวระดับเดียวกัน การสื่อสารแต่ละแนวย่อมส่งผลต่อการสั่งการ การตัดสินใจ หากกลุ่มบุคคลของแต่ละแนวมีแนวคิดแตกต่างกัน

พฤติกรรมหรือแรงจูงใจต่อบุคคลไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม เหตุที่พฤติกรรมหรือแรงจูงใจต่อบุคคล ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม จะเกิดจากการที่
1) การใช้ทฤษฎีแรงจูงใจในการจัดกระทำไม่ถูกต้อง อาทิ การนำเอาความพอใจเป็นหลัก หรือการนำเอาความต้องการของมนุษย์เป็นหลักมาใช้ในกรอบแนวคิดการสร้างแรงจูงใจ ซึ่งอาจ ส่งผลต่อการโต้แย้งหรือไม่พอใจเกิดขึ้นทำให้การอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรม นั้นๆ ถดถอยลง
2) พฤติกรรมของบุคคลมีอคติต่อองค์กร ย่อมส่งผลต่อการมีส่วนร่วม เพราะถ้าบุคคลเห็นว่าองค์กรหรือบ้านของตนเองที่อยู่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมแล้วการกระทำใด ๆ ย่อมขัดแย้งและไม่เอื้อประโยชน์ได้ แต่หากการแก้ไขบทบาทของบุคคลให้มีทัศนคติดี มีความกระตือรือร้น มีสมาธิ มีความรับผิดชอบหรือมีพลังเพื่องาน กิจกรรมใด ๆ ที่เขาเหล่านั้นมุ่งจัดการย่อมเป็นจุดมุ่งหมายเพื่อการกระทำโดยส่วนร่วมได้ง่าย
3) การมีส่วนร่วมของทุกคนในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ไม่มีความขัดแย้งหรือมีความ ขัดแย้งแต่พร้อมต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลง รับผลของการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำย่อมเป็นทิศทางของการอยากมีส่วนร่วม
ผู้นำมีปัญหา เหตุที่กล่าวถึงกรณีการไม่สามารถบริหารงานได้อย่างดีในการมีส่วนร่วมมีผลมาจากผู้นำในระยะเริ่มต้น อาทิ
1) คนทุกคนมีจุดมุ่งหมายในชีวิตเพื่อความต้องการในปัจจุบันและอนาคตในกรณีต่าง ๆ อาทิ มีความเป็นอยู่บนชีวิตที่ดี (กินดีอยู่ดี) , มีความมั่นคง ปลอดภัยในตนเองและครอบครัว มีความรัก มีหน้ามีตาในสังคม , มีการยอมรับยกย่องนับถือ และมีความสำเร็จในชีวิต เมื่ออยู่ในองค์กรแต่ประสบปัญหากดดันและไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำกลุ่มหรือองค์กรย่อม เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบและเป็นความขัดแย้ง
2) การขาดแรงจูงใจในการนำไปสู่ความสำเร็จของงาน เหตุด้วย ผู้นำขาดภาวะการเรียนรู้ ไม่มีความชำนาญ ไม่มีความเชื่อมั่นตนเอง หรือมีโรคภัยเบียดเบียน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นผลทางจิตใจต่อการมีส่วนร่วมและสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน
3) ผู้นำขาดมนุษยสัมพันธ์ ความรับผิดชอบ หย่อนคุณธรรม และทักษะการเรียนรู้จากงาน เป็นผลให้ไม่สามารถเข้ากับบุคคลได้อย่างดี ทำให้การนำเสนอความต้องการหรือการตัดสินใจเพื่อกลุ่มหรือส่วนร่วมเป็นไปได้โดยยากหรือไม่เหมาะสม
การบริหารงานการมีส่วนร่วม เป็น การบริหารที่ทุกคนในองค์กรหรือต่างองค์กรได้มีโอกาสจัดกระทำการงานตามเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ตามประสงค์ที่ต้องการ ผู้นำในการบริหารแบบมีส่วนร่วมจึงต้องเป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพดี มีทักษะในงานและความฉลาด มีความสามารถในงานและการตัดสินใจ มีมนุษยสัมพันธ์และคุณธรรมในการปฏิบัติงาน และมีความสามารถในบทบาทของตนเองอย่างดี กระบวนการบริหารจึงจะบรรลุเป้าหมายขององค์กรที่ต้องการได้ด้วยดี
การมีส่วนร่วมของประชาชนกับการบริหารราชการ
นิยามของการมีส่วนรวมของประชาชน ระบบราชการมุ่งประสงค์ให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในการดำเนินงานทางการบริหาร หรือการดำเนินกิจการของรัฐ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตนเอง (ประชาชน) การมีส่วนร่วมทางตรง จะเห็นได้จากการที่ประชาชนสามารถตัดสินใจทางเลือกเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะหรือเข้าร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ของรัฐในแต่ละสาขา หรือการลงประชามติในเรื่องต่าง ๆ หรือการเข้าร่วมเป็นกรรมการในการดำเนินงาน อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับการจ้าง หรือการกำหนดราคาการจ้างต่าง ๆ ได้ สำหรับการมี ส่วนร่วมทางอ้อม ก็คือการที่ประชาชนสามารถเสนอความคิดความเห็นผ่านเครือข่ายหรือกลุ่มตัวแทนต่าง ๆ และทั้งการให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารราชการผ่านสื่อใด ๆ อาทิ วิทยุ , โทรศัพท์ , เว็บไซต์ หรือจดหมายข่าว
การบริหารราชการเชิงการพัฒนาที่มุ่งให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถพิจารณาได้ในแนวทางดังนี้
1) มีการเปิดเผยข้อมูลและโปร่งใสในการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานโดยมีช่องทาง เพื่อการให้ข้อมูลข่าวสารที่กว้างขวางต่อประชาชนและเข้าถึงได้โดยสะดวก
2) มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับภารกิจของหน่วยงานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เปิดช่องทางเพื่อการนี้อย่างจริงจัง
3) มีระบบการจัดการข้อมูลข่าวสารที่ได้จากประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการ ปรับปรุงแก้ไขระบบการบริหารงาน , การให้บริการ และการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ หรือนโยบายอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการหรือประโยชน์ของประชาชนอย่างชัดเจน โดยมีผู้รับผิดชอบและรายงานผลการดำเนินการเชิงสรุปเสนอที่เป็นรูปธรรมต่อเนื่อง
4) เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม (เอกชน , ประชาชน และเครือข่ายต่าง ๆ) ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาในกิจกรรมกระบวนงานของหน่วยงานสำหรับการกำหนดทิศทางแห่งนโยบาย และกิจกรรมสาธารณะ ที่กระทบต่อประชาชนหรือตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
5) ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในส่วนราชการ โดยสามารถเข้าถึงในการจัดกระบวนการหรือกลไกต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม และร่วมในการตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินงาน หรือผลสำเร็จของการทำงานของหน่วยงานราชการได้
กรมโยธาธิการและผังเมืองกับเป้าหมายการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในภาพรวมของภารกิจหลัก ๆ จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์สำคัญที่กรมได้กำหนดไว้ คือ การเสริมสร้างการพัฒนาเมืองและการพัฒนา ความปลอดภัยในอาคาร การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน การเสริมสร้างการพัฒนาเมืองและชุมชน และการพัฒนาระบบการบริหารงานให้มีความเป็นเลิศ ซึ่ง ทั้ง 4 ประเด็นเป็นเรื่องที่กำหนดไว้และส่งผลต่อประชาชนแทบทั้งสิ้น การดำเนินงานในกิจกรรมหรือเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อสนองตอบตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ สามารถเห็นภาพของการให้โอกาสหรือยอมรับว่ามีประชาชนหรือภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานในกิจกรรมหรือขั้นตอนต่าง ๆ ยังไม่ขยายวงกว้างให้สอดคล้องต่อหลักการการบริหารเชิงการพัฒนา อาทิ การวางผังเมือง การควบคุมอาคาร และการจัดรูปที่ดิน ซึ่งเป็นภารกิจที่มีกฎหมายรองรับและต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้และในหลาย ๆ ขั้นตอนซึ่งกำหนดโดยแนวปฏิบัติตามกฎหมาย ประชาชนหรือองค์กรเอกชน หรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถมาร่วมในการพิจารณา , นำเสนอ และให้ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าการพิจารณา การนำเสนอหรือการให้ ข้อมูลเหล่านั้นอาจเป็นเพียงส่วนน้อยที่ถูกนำไปสู่การได้รับการตัดสินใจ เพื่อการปรับปรุง แก้ไข หรือ เปลี่ยนแปลงแห่งเหตุสาระของการงานที่เกิดขึ้นในกระบวนงาน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดผ่านแห่งการพัฒนา เพื่อความสำเร็จของงานในอนาคตต่อไปอย่างดี
ความสำเร็จของการมีส่วนรวมภาคประชาชนในฐานะองค์กรของรัฐจะต้องเร่งรัดและปรับปรุง การจัดการบริหารเพื่อก่อผลแห่งการพัฒนา กล่าวคือ
** องค์กรต้องมีคณะทำงานเพื่อการนี้อย่างเป็นรูปธรรมและประสานการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและวิเคราะห์สถานภาพแห่งภารกิจ ประกอบยุทธศาสตร์การบริหารและงบประมาณอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดกระบวนงานที่เหมาะสมสำหรับการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมที่ดี
** ช่องทางของการเข้าถึง ซึ่งข้อมูลและข่าวสารใด ๆ ต้องปรากฏอย่างชัดเจนและมีหลายช่องทางที่จัดกระทำได้ และต้องมีการประชาสัมพันธ์ทิศทางการเข้าหาหรือเข้าถึงอย่างเป็นรูปธรรมโดยต่อเนื่องพร้อมทั้งแสดงผลจากการมีส่วนร่วมด้วยความน่าเชื่อถือ เชิงผลแห่งการกระทำจริง และสร้างศรัทธาความเชื่อมั่น
‏ ** องค์กรต้องเปิดโอกาสเพื่อการเข้ามาเป็นส่วนร่วมในคณะทำงานหรือคณะกรรมการหรือกลุ่มใด ๆ อย่างกว้างขวางทั้งภาคเอกชน , ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสียตามภารกิจนั้น ๆ ทั้งนี้จะเป็นการเข้ามาทั้งทางตรง และทางอ้อมก็ได้ โดยปราศจากการปิดกั้น
** องค์กรต้องฟังความเห็น , ข้อเสนอ , ข้อมูล หรือแนวทางการตัดสินใจของประชาชน หรือ แนวปฏิบัติให้มากที่สุดทั้งนี้ต้องจัดกระทำโดยปราศจากอคติหรือบนเงื่อนไขแห่งความขัดแย้ง อันรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถชี้แจง หรือประกอบเหตุผลต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางในเวทีที่สามารถกำหนดได้
** องค์กรต้องรวบรวมผลแห่งความมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมบทสรุปทั้งความสำเร็จ และความขัดแย้งเพื่อประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าความเห็นเหล่านั้น อาจจะนำไปสู่การตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจของผู้บริหารขององค์กร หรือของรัฐก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดแรงจูงใจต่อประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียให้มองเห็นความจริงใจและเป็นช่องทางต่อการนำเสนอหรือติดตามผลในลำดับต่าง ๆ
การบริหารแบบมีส่วนร่วมภาคประชาชน เป็นความยุ่งยากและมีความซับซ้อนอย่างมากสำหรับ ผู้บริหารขององค์กรเชิงปฏิบัติ ความสำเร็จในกิจกรรมหรือภารกิจใดที่สามารถน้อมนำความคิดเห็น ข้อเสนอ ของประชาชนมาจัดการได้ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จสุดยอด การดำเนินงานเพื่อการบริหารดังกล่าวจึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งภายในองค์กรต่างองค์กร และประชาชนรวมถึงผู้เกี่ยวข้องหรือมิได้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่มี ความคิดเห็น กระบวนการวิเคราะห์และพิจารณาตัดสินใจเพื่อการใด ๆ ที่สามารถขจัดความขัดแย้ง ความเคลือบแคลงสงสัย ปัญหาหรืออุปสรรคที่เป็นปัจจัย จึงเป็นเป้าประสงค์ที่องค์กรแห่งรัฐตั้งความหวัง เพื่อการดำเนินงานอย่างสูงสุดในอนาคต
ประเภทของการมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมโดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. การมีส่วนร่วมโดยตรง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การมีส่วนร่วมในการบริหารเป็นเรื่องที่ เกี่ยวกับการตัดสินใจเป็นสำคัญ ดังนั้น ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมโดยตรง เช่น ผู้บริหาร หัวหน้าโครงการการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ก็ตาม มักจะเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในรูปของกรรมการที่ปรึกษา ที่จะให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะ เพราะกิจกรรมบางอย่างอาจมี อุปสรรคไม่สามารถ แก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี จึงจำเป็นต้องให้บุคคลอื่นเข้ามาร่วมในการตัดสินใจ เพื่อให้ผลการ ตัดสินใจเป้นที่ยอมรับแก่คนทั่วไปหรือเกิดผลงานที่มีประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วมโดยตรงจึงมีสาระสำคัญอยู่ที่ว่า เป็นการร่วมอย่างมีระบบตามกระบวนการบริหาร มักทำเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องใดก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจาก การตัดสินใจร่วมกัน เป็นต้น
2. การมีส่วนร่วมโดยอ้อม การมีส่วนร่วมโดยอ้อมเป็นเรื่องของการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งให้บรรลุเป้าหมายอย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการบริหารแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น เช่น การบริจาคเงินทรัพย์สิน วัสดุอุปกรณ์ แรงงาน เข้าช่วยสมทบ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่ยินดีร่วมมือ เป็นต้น ลักษณะของการมีส่วนร่วม ลักษณะหรือรูปแบบของการเข้าไปมีส่วนร่วมนั้น สามารถพิจารณาได้หลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราจะสนใจในด้านใด บางท่านพิจารณาจากกิจกรรมที่เข้าไปมีส่วนร่วม เช่น การเลือกตั้ง การประชุมบางท่านก็พิจารณาในเชิงการบริหาร เช่น การมีส่วนร่วมในแนวราบ-แนวดิ่ง เป็นต้น อาร์นสไตน์ (Arnstien 1969 : 215-217; ชูชาติ พ่วงสมจิตต์, 2540 : 18 ) เห็นว่า การมีส่วนร่วมจะมีลักษณะมากน้อยเพียงใด ให้พิจารณาว่าผู้นำเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปร่วมในการใช้อำนาจและมีบทบาทในการควบคุมได้เท่าใด ซึ่งเป็นข้อบ่งบอกถึงภาวะผู้นำที่เป็นประชาธิปไตย (Democratic Leadership) ว่ามีสูงหรือต่ำ อาร์นสไตน์ได้ใช้อำนาจการตัดสินใจเป็นเกณฑ์ในการบ่งบอกการมีส่วนร่วมโดยสรุปเป็นขั้นบันได (Participation Ladder) 8 ขั้น และ ใน 8 ขั้น จัดได้เป็น 3 กลุ่ม หรือ 3 ประเภท ดังนี้
1. การมีส่วนร่วมเทียม หรือไม่มีส่วนร่วม
2. การมีส่วนร่วมพอเป็นพิธี หรือร่วมเพียงบางส่วน
3. การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คือ มีอำนาจและบทบาทมาก
เงื่อนไขของการมีส่วนร่วมในการบริหาร แม้ว่าการบริหารแบบมีส่วนร่วมจะเป็นที่ยอมรับและมีความสำคัญต่อการบริหารงานตาม วิทยาการสมัยใหม่ และนักบริหารทุกองค์กรต่างต้องการให้เกิดบรรยากาศการทำงานเช่นนี้ก็ตาม แต่บรรยากาศเช่นนี้มิใช่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ซึ่ง ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีความปรารถนาร่วมกันที่จะให้เกิดการมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมจึงจะเกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายไม่พึงปรารถนาจะให้เกิดการมีส่วนร่วม การมี ส่วนร่วมย่อมจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ จึงกล่าวได้ว่าปัจจัยทั้งสองดังกล่าวเป็นเงื่อนไขสำคัญของการมีส่วนร่วมในการบริหาร ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ผู้บริหารหรือผู้นำ นับว่าสำคัญที่สุดเป็นอันดับแรก เพราะถ้าหากว่าผู้บริหารไม่มี ความต้องการที่จะให้เกิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมแล้ว ก็คงยากที่จะเกิดบรรยากาศการทำงาน แบบประชาธิปไตย แม้ว่าผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาจะเรียกร้องก็ตาม แต่ถ้าผู้บริหาร มีบุคลิกและปรารถนาที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมแล้ว การมีส่วนร่วมในการบริหารย่อมเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ผู้บริหารจะต้องมีความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารงาน เพราะการจะนำวิธีการบริหารแบบมีส่วนร่วมมาใช้นั้น มิใช่ว่าจะใช้ได้ทุกสถานการณ์ บางครั้งนำไปใช้กับองค์กรหนึ่งแล้วเกิดความสำเร็จ แต่เมื่อนำไปใช้กับอีกองค์กรหนึ่งอาจำไม่ประสบผลสำเร็จก็ได้ ทั้งนี้ปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ เช่น เวลา สถานที่ ภาวะผู้นำ สถานการณ์ วิถีชีวิตของคนแต่ละสังคม เป็นต้น ดังนั้น ผู้บริหารหรือผู้นำจะต้องตระหนักในเรื่องเหล่นนี้และพิจารณาว่าในสถานการณ์ใดควรจะใช้เทคนิคการบริหารแบบใด
2.ผู้ปฏิบัติหรือผู้ตาม แม้ว่าผู้บริหารปรารถนาจะให้เกิดการมีส่วนร่วมในการทำงานเพียงใด ไม่ว่าจะสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยหรือออกคำสั่งก็ตาม แต่หากผู้ปฏิบัติหรือผู้ตามไม่เต็มใจ ไม่สนใจหรือไม่เห็นความสำคัญ การมีส่วนร่วมในการบริหารก็จะไม่เกิด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ ผู้บริหารที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานและวัตถุประสงค์ขององค์กร เช่น ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้เกิดผลงาน องค์กรจะอยู่ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพนักงานหรือผู้ตาม ถ้าหากไม่ร่วมมือไม่ทุ่มเทการทำงานให้แก่องค์กร องค์กรก็จะต้องสิ้นสลาย และเมื่อนั้นทุกคนในองค์กรก็จะหมดงานทำ เช่นนี้เป็นต้น ถ้าหากผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ตามเข้าใจในวัตถุประสงค์ ก็จะให้ความร่วมมือและทุ่มเทกำลังสติปัญญา ความสามารถเพื่อความเจริญก้าวหน้าขององค์กรเพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ต่างก็มีความรักและความผูกพันกับองค์กรเป็นทุกเดิมอยู่แล้ว การตบมือข้างเดียวไม่ดังฉันใด เปรียบได้กับผู้บริหารและพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่มีการประสานร่วมมือกันฉันนั้น ดังนั้นทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมีความตระหนักร่วมกันในสิ่งสำคัญดังกล่าว ผู้บริหารมีหน้าที่ใช้กลยุทธ์ในการสร้างบรรยากาศในองค์กรให้เกิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพิ่มสร้างเป็นวัฒนธรรม ในการทำงาน เมื่อบุคคลมีโอกาสแสดงความสามารถในศักยภาพของตนร่วมกำหนดเป้าหมายหรือ ร่วมตัดสินใจในการทำงาน ย่อมจะทำให้เกิดการผูกมัดในเชิงจิตวิทยา (Psyhological Commitment ) และจะเป็นพลังใจให้เกิดความกระตือรือร้นให้ภารกิจบรรลุเป้าหมาย มากไปกว่านั้นและจะเป็นผลให้องค์กรมีการพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าต่อไป ผลของการมีส่วนร่วม การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการรับทราบข้อมูลข่าวสาร กำหนดปัญหาและความต้องการของตนเองและการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ถ้าหากสามารถบริหารการมีส่วนร่วมได้อย่างเหมาะสมแล้ว การบริหารงานก็จะเกิดผลดีมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้าม หากเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมมากจนเกิดไปก็จะทำให้เกิดข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะหลากหลายตนเกินของเขต ซึ่งจะทำให้การ บริหารงานขาดประสิทธาท้ายที่สุดก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ว่าการมีส่วนร่วมนั้นจะกระทำโดยตรงหรือโดยอ้อมตลอดจนการเข้าไปมีส่วนร่วมในรูปแบบลักษณะใด ๆ ก็ตาม จะปรากฏผลเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1. การมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ (Constrructive Participation) คือการมีส่วนร่วมที่ทั้งสองฝ่ายต่างมองโลกไปในทางที่ดี พร้อมที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ด้วยการปรับทัศนคติเข้าหากันเกิดการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาและหาข้อยุติต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การร่วมมือร่วมใจบนพื้นฐานที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพึงพอใจ การมีส่วนร่วมในลักษณะนี้จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าและเป็นสิ่งที่สังคมพึงปรารถนา
2. การมีส่วนร่วมที่มีความขัดแย้ง (Conflicteve Particpation) คือการมีส่วนร่วมที่ทั้งสองฝ่ายมีอคติต่อกัน เป็นการมองโลกในแง่ร้าย เมื่อมีโอกาสเผชิญหน้ากันจะพยายามหักล้างความคิดซึ่งกันและกันโดยไม่มีการปรับทัศนคติเข้าหากัน จึงยากที่จะหาจุดร่วมให้เกิดความพึงพอใจกันได้ การร่วมมือร่วมใจจึงแอบแฝงไว้ซึ่งความไม่จริงใจต่อกันในการดำเนินกิจกรรม ความขัดแย้งเริ่มตั้งแต่มีคน 2 คนขึ้นไปทำงานร่วมกัน ดังนั้น ที่ใดมีสังคมมนุษย์ที่นั้นย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอ เพราะในแต่ละสังคมมีพื้นฐานหลายอย่างแตกต่างกัน เช่น เพศ วัย ความรู้ ความสามารถ อาชีพ ศาสนา วัฒนธรรม เป็นต้น ปรัชญาของความขัดแย้งเห็นว่าความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ไม่ควรจะหลีกเลี่ยงแต่เราต้องเผชิญกับมันและยอมรับว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดในการแก้ไขปัญหา จึงกล่าวได้ว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถ หลีกเลี่ยงได้ ความขัดแย้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางครั้งเป็นไปในทางสร้างสรรค์แต่บางครั้งก็เป็นการทำลาย ผู้บริหารคนใดเข้าใจสมมติฐานและกระบวนการของความขัดแย้งย่อมอยู่ในฐานะได้เปรียบในการแก้ไขปัญหาขององค์กรได้ดี การขจัดความขัดแย้งในภาวะการมีส่วนร่วม การขจัดความขัดแย้งในภาวะของการมีส่วนร่วมในการบริหารนั้น จะต้องพิจารณาว่าเกิดจากปัญหาใด อย่างไรก็ตามสามารถพิจารณาได้ดังนี้
1. นโยบายจะต้องมีความชัดเจนสามารถนำไปปฏิบัติได้
2. จัดหาทรัพยากรในการบริหารให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ
3. การแต่งตั้ง การเลือกสรรบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งจะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและ ให้เกิดความยุติธรรม
4. การประนีประนอม
5. หลีกเลี่ยงการขัดแย้ง
6. ระบบการสื่อความหมายจะต้องชัดเจน
7. ปรับเปลี่ยนอารมณ์ ค่านิยม ความเชื่อ ความคิดเห็น ให้เป็นไปในทางเดียวกัน ดังที่กล่าวกันว่า “ พูดภาษาเดียวกัน”

ผลดีของการบริหารแบบมีส่วนร่วม
1. เป็นการสร้างสรรค์ให้มีการระดมสรรพกำลังจากบุคคลต่าง ๆ เช่น พลังความคิด สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เป็นต้น
2. เป็นการสร้างบรรยากาศและพัฒนาประชาธิปไตยในการทำงาน
3. ช่วยให้ลดความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติงาน เพราะเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมีส่วนช่วยให้ประสานงานกันดี
4. การบริหารแบบมีส่วนร่วมจะทำให้งานมีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดี เพราะจะมี ความรับผิดชอบ
5. ผลงานที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจแก่บุคลากร เพราะทุกคนมีส่วนร่วม ในความสำเร็จของงาน
6. ช่วยให้การทำงานสำเร็จลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะมีการแบ่งหน้าที่กันทำ
7. สร้างความสมดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายปฏิบัติ
ข้อจำกัดของการบริการแบบมีส่วนร่วม แม้ว่าการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมจะมีข้อดีอยู่หลายประการก็ตาม แต่ก็มีข้อเสียและข้อจำกัดดังนี้
1. การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นในการบริหาร อาจเกิดความขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับฝ่ายบริหารซึ่งอาจทำให้กิจกรรมนั้นล่าช้าหรือล้มเหลวได้
2. การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการบริหาร อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ก่อให้เกิดกลุ่มอิทธิพลที่ใช้พลังของกลุ่มไปในทางไม่สร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้องขึ้นได้
3. ผู้บริหารบางคนคิดว่าการยอมให้ฝ่ายผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจและรับผิดชอบจะทำให้ตนเองสูญเสียอำนาจ
4. การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมไม่สามารถนำไปใช้กับงานที่เร่งด่วนได้ เพราะต้องใช้เวลามากในกระบวนการบริหาร เช่น การประชุมหลายครั้งเพื่อให้ได้ข้อยุติ
5. การมีส่วนร่วมในการบริหารงานบางกรณีต้องใช้งบประมาณมาก ดังนั้นต้องคำนึง ผลตอบแทนว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุกหรือไม่
6. การคัดเลือกผู้เข้ามาร่วมงาน ถ้าได้บุคคลที่ไม่มีความรู้ความสามารถและความเหมาะสมกับงาน อาจจะทำให้เกิดการเสียเวลาและยุ่งยากในภายหลัง
7. ความคิดเห็นของบุคคลภายนอกองค์กร โดยเฉพาะประชาชน อาจไม่ได้รับการยอมรับ เท่าที่ควร
8. การไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่มักจะทำให้เกิดการก้าวก่ายหน้าที่ซึ่งกันและกัน

กล่าวโดยสรุป การบริหารแบบมีส่วนร่วมนั้น มีตั้งแต่อดีตที่ยังไม่มีการศึกษาเป็นวิทยาการ ดังจะเห็นได้จากการสร้างกำแพงเมืองจีน พีระมิด หรือการก่อสร้างพระบรมมหาราชวังของไทย การมีส่วนร่วมบริหารจัดการได้มีพัฒนามาเป็นลำดับ ซึ่งมีทั้งแบบสร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีความรู้ ประสบการณ์ ค่านิยม วัฒนธรรมประเพณีแตกต่างกันจึงเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่จะใช้ภาวะของการเป็นผู้นำ ในการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ จึงจะทำให้การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมบรรลุเป้าหมายในที่สุด


การบริหารแบบมีส่วนร่วมมีพื้นฐานมาจากหลักของการกระจายอำนาจ ซึ่งหลักการนี้ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศของระบบประชาธิปไตย ก็คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เมื่อนำหลักประชาธิปไตยมาใช้กับการศึกษา จึงมีการกระจายอำนาจการบริหารไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในรูปของการบริหารแบบองค์คณะบุคคล อีกทั้งให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลมีอิสระในการบริหารงานพอสมควรแม้ว่าการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้จะอยู่ในวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล แต่บริบทและวิถีชีวิตวัฒนธรรมไทยอาจจะยังไม่พร้อม หลายท่านเป็นห่วงว่าจะเกิดความผิดพลาด เพราะถ้าอำนาจตกไปอยู่ในมือของผู้ที่ไร้คุณธรรม โดยไม่มีตัวแทนของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมหรือไม่มีการควบคุมที่ได้มาตรฐานแล้ว ย่อมจะเป็นก้าวใหม่ที่เกิดช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์หรือการเมืองเข้ามาก้าวก่าย จนทำให้ปรัชญาการศึกษาต้องเสียหาย อย่าลืมว่าการศึกษามิได้เป็นของผู้หนึ่งผู้ใดหรือเป็นของกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงผู้เดียว แต่การศึกษาเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษานับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเพราะทุกวันนี้สภาพสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนดูเหมือนระบบบางระบบของสังคมจะตามไม่ทันและยังไม่สอดคล้องผสมกลมกลืนที่จะอยู่รวมกันได้ ที่เห็นเด่นชัดก็คือ การอพยพแรงงานที่ทำให้สภาพครอบครัวล่มสลาย เพราะต้องจากถิ่นฐานเดิมและเปลี่ยนภูมิลำเนาอยู่บ่อย ๆ

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ข้อสังเกตจากการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในสถานศึกษา

ข้อสังเกตจากการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในสถานศึกษา
ข้อสังเกตจากการปฏิบัติงานด้านการเงิน บัญชี และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง
1. เงินคงเหลือที่มีอยู่จริงไม่ตรงกับรายงานเงินคงเหลือประจำวัน สาเหตุ
1.1 มีการบันทึกสัญญายืมเงินตามโครงการอาหารกลางวัน บันทึกเป็นเงินสดคงเหลือในมือ กรณีนี้ระบบการควบคุมการเงินของหน่วยงานย่อย พ.ศ.2544 ให้ตัดจ่ายการยืมเงินตามสัญญายืมเงินในทะเบียนคุมเงินโครงการอาหารกลางวัน
1.2 เมื่อมีการถอนเงินธนาคารเพื่อจ่ายให้เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน แต่ไม่ได้จ่ายภายในวันที่ถอนเงิน ทำให้มีเงินสดคงเหลือในมือ และไม่ได้บันทึกในทะเบียนคุมเงิน
กรณีนี้เงินสดที่ถอนมาเพื่อจ่ายแต่ไม่ได้จ่าย ให้บันทึกในทะเบียนคุมเงินเป็นเงินสดคงเหลือ และแสดงในรายงานเงินคงเหลือประจำวัน
1.3 สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่เปิดในนามโรงเรียน ไม่ได้แสดงในรายงานเงินคงเหลือประจำวัน ทุกบัญชี
กรณีนี้ต้องแสดงในรายงานเงินคงเหลือประจำวันให้ครบถ้วนทุกรายการ
1.4 ดอกผลจากสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ ไม่ได้นำมาบันทึก
กรณีนี้ต้องนำมาบันทึกในทะเบียนคุมเงินที่เกี่ยวข้อง โดยปรับสมุดเงินฝากธนาคารตามงวดของธนาคาร คือสิ้นเดือนมิถุนายนและสิ้นเดือนธันวาคม
1.5 มีการถอนเงินธนาคารโดยไม่คำนึงเศษสตางค์
* กรณีนี้การเขียนถอนเงินจากธนาคารให้เขียนทั้งจำนวนรวมทั้งเศษสตางค์*
2. ไม่จัดทำบันทึกการรับเงินเพื่อเก็บรักษา
กรณีสถานศึกษาไม่มีตู้นิรภัยในการเก็บรักษาเงิน ทุกครั้งที่มีเงินสดคงเหลือในมือ ให้เจ้าหน้าที่การเงินจัดทำแบบ “บันทึกการรับเงินเพื่อเก็บรักษา” พร้อมส่งมอบตัวเงินให้กับผู้บริหารทุกวันที่มีเงินสดคงเหลือในมือ
และผู้บริหารจะส่งมอบตัวเงินแก่เจ้าหน้าที่การเงินในวันทำการถัดไปเมื่อมีการเบิกจ่าย กรณีไม่มีความจำเป็นต่อการใช้จ่ายควรนำเงินฝากธนาคาร ให้ถือปฏิบัติตามระบบการควบคุมการเงินของหน่วยงานย่อย พ.ศ.2544
3. ยอดเงินคงเหลือตามรายงานเงินคงเหลือประจำวันไม่ตรงกับทะเบียนคุมเงิน
กรณีที่เจ้าหน้าที่การเงินและเจ้าหน้าที่บัญชีเป็นคนละคนกันหรือเป็นคนเดียวกัน ไม่ได้สอบทานระหว่างกัน หรือไม่ได้สอบทานกับสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ควรมีการสอบทานตัวเงินคงเหลือที่มีอยู่จริงกับทะเบียนคุมเงินที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อยเดือนละครั้ง
4. ดอกผลจากบัญชีเงินอุดหนุนทั่วไป ไม่ได้นำส่งรายได้แผ่นดินตามระยะเวลากำหนด
กรณีนี้ดอกผลจากบัญชีเงินอุดหนุนทั่วไป ให้นำส่งทั้งจำนวนรวมทั้งเศษสตางค์ ถือเป็นรายได้แผ่นดินต้องนำส่งคลัง ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่กค 0409.6/ว126 ลงวันที่ 7 กันยายน 2548 ซึ่งการนำส่งเงินรายได้แผ่นดินตามระเบียบฯ หากไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทให้ส่งอย่างน้อยเดือนละครั้ง
5. หลักฐานการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ได้บันทึกขออนุมัติเบิกจ่ายเงินก่อนการจ่ายเงิน
กรณีนี้ เจ้าหน้าที่การเงินไม่ได้บันทึกขออนุมัติเบิกจ่ายเงินจากผู้มีอำนาจอนุมัติก่อนการจ่ายเงินเมื่อ
เจ้าหน้าที่พัสดุดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและเสนอผู้มีอำนาจทราบและอนุมัติทุกขั้นตอนแล้ว ดังนั้น เจ้าหน้าที่การเงินต้อง
จัดทำบันทึกขออนุมัติเบิกจ่ายเงินก่อนการจ่ายเงินทุกครั้ง
6. หลักฐานการจ่ายที่เป็นใบเสร็จรับเงิน ไม่ได้ประทับตรา “จ่ายเงินแล้ว”
กรณีนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่การเงินจ่ายเงินให้เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน ได้รับหลักฐานการจ่ายเป็น
ใบเสร็จรับเงิน ให้ผู้จ่ายเงินลงลายมือชื่อรับรองการจ่ายพร้อมทั้งมีชื่อด้วยตัวบรรจงกำกับไว้ในหลักฐานการจ่ายเงินให้แก่
เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน และบันทึกวันที่ที่จ่ายเงิน เพื่อประโยชน์ต่อการตรวจสอบ ตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและ
นำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 23
7. การอ้างอิงเลขที่เอกสารหลักฐานการจ่ายในทะเบียนคุมเงิน ไม่ถูกต้อง
กรณีนี้ หลักฐานการจ่ายเมื่อมีการอนุมัติและจ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว ก่อนการลงบัญชีในทะเบียนคุมเงิน ให้กำหนดเลขที่ของเอกสารหลักฐานการจ่าย เช่น หากเป็นใบเสร็จรับเงินที่รับจากร้านค้า กำหนดรหัสเป็นบจ....../......
หากเป็นใบสำคัญรับเงินของส่วนราชการกรณีผู้รับเงินที่ไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินได้ เช่น หลักฐานการจ่ายค่าตอบแทน หลักฐานการจ่ายเงินทุน กำหนดรหัสเป็น บค....../......แล้วจัดลำดับเลขที่ตามวันที่จ่ายจนสิ้นปีงบประมาณตามประเภทของเงินที่ใช้จ่าย นำเลขที่ของหลักฐานการจ่ายดังกล่าวบันทึกในช่องที่เอกสารของทะเบียนคุมเงินแต่ละประเภท เช่น บจ.1/2551, บค.2/2551
8. การจัดเก็บหลักฐานขอเบิกที่จ่ายเงินแล้ว ไม่ได้แยกตามประเภทของเงินที่ใช้จ่าย
กรณีนี้ เมื่อหลักฐานขอเบิกมีหลักฐานการจ่ายและกำกับเลขที่เอกสารการจ่ายตามข้อ 7. แล้ว
เมื่อเจ้าหน้าที่บัญชีบันทึกบัญชีในทะเบียนคุมเงินเรียบร้อยแล้ว ให้จัดเก็บเข้าแฟ้มตามประเภทของเงินที่ใช้จ่าย ประกอบด้วยบันทึกขออนุมัติเบิกจากผู้มีอำนาจอนุมัติและหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายทั้งหมด ให้เรียงลำดับตามเลขที่หลักฐานการจ่าย เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้นภายหลัง เช่น เงินอุดหนุนรายหัว 1 แฟ้ม, เงินรายได้สถานศึกษา 1 แฟ้ม, เงินโครงการอาหารกลางวัน 1 แฟ้ม
9. ขาดการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรับจ่ายเงินประจำวันและไม่มีร่องรอยการปฏิบัติงาน
ตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ. 2520 ข้อ 20 และ 37 ให้ส่วนราชการจัดให้มีการตรวจสอบจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่จัดเก็บและนำส่งกับหลักฐานและรายการที่บันทึกไว้ในบัญชีเงินสดหรือบัญชีเงินฝากธนาคารว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากการตรวจสอบตามวรรคแรกปรากฎว่าถูกต้องแล้ว ก็ให้ผู้ตรวจแสดงยอดรวมเงินรับทั้งสิ้นตามใบเสร็จรับเงินทุกฉบับที่ได้รับในวันนั้นไว้ในสำเนา
ใบเสร็จรับเงินฉบับสุดท้ายและลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย และเมื่อสิ้นเวลารับจ่ายเงินให้ส่วนราชการจัดให้มีผู้ตรวจสอบรายการจ่ายเงินที่บันทึกไว้ในบัญชีเงินสด หรือบัญชีเงินฝากธนาคารกับหลักฐานการจ่ายในวันนั้น หากปรากฎว่าถูกต้องแล้ว
ให้ผู้ตรวจสอบลงลายมือชื่อกำกับยอดเงินคงเหลือในบัญชีนั้น ๆ
กรณีนี้ ควรให้มีร่องรอยการปฏิบัติงาน เช่น มีการรับเงินตามใบเสร็จแล้วมีการนำมาบันทึกบัญชีถูกต้องหรือไม่ โดยแสดงร่องรอยด้วยการลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินฉบับที่ตรวจสอบและลงลายมือชื่อในทะเบียนคุมเงิน หรือตรวจสอบจำนวนเงินตามหลักฐานการจ่ายกับทะเบียนคุมเงินว่าถูกต้องหรือไม่ โดยแสดงร่อยรอยด้วยการลงลายมือชื่อในทะเบียนคุมเงิน หรืออาจมีการตรวจนับตัวเงินสด ,บัญชีเงินฝากธนาคาร,เงินฝากส่วนราชการผู้เบิก,สัญญายืมเงินและ
ใบสำคัญรองจ่าย (กรณีหน่วยงานย่อย พ.ศ.2515) หรือตรวจนับตัวเงินสด ,บัญชีเงินฝากธนาคาร,เงินฝากส่วนราชการผู้เบิก (กรณีหน่วยงานย่อย พ.ศ.2544) ว่าตรงกับรายงานเงินคงเหลือประจำวันหรือไม่ โดยแสดงร่อยรอยด้วยการลงลายมือชื่อในเอกสารที่ตรวจสอบ
10. ขาดการรายงานฐานะทางการเงินต่อคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นลายลักษณ์อักษร
กรณีนี้ควรมีการรายงานฐานะทางการเงินต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และบันทึกรายงานไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อยภาคเรียนละครั้ง
สำหรับรายงานการรับ-จ่ายเงินรายได้สถานศึกษา ทุกสิ้นปีการศึกษาเสนอคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามประกาศ สพฐ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ อัตรา และวิธีการนำเงินรายได้สถานศึกษา ไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549