วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

*** ข้อสังเกต 15 จุดอันตราย ***

1. การแบ่งซื้อ/แบ่งจ้าง
-พัสดุประเภทเดียวกัน
- มีความต้องการใช้ในระยะเวลาเดียวกัน
- ควรจัดหาในคราวเดียวกัน
- เจตนา
การแบ่งซื้อ/แบ่งจ้าง โดยลดวงเงิน หรือใช้วิธีการจัดซื้อ/จัดจ้างเปลี่ยนไปเป็นวิธีสำหรับวงเงินที่ต่ำกว่า หรือทำให้อำนาจการสั่งซื้อ/สั่งจ้างเปลี่ยนไป อันเป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ/ผู้เกี่ยวข้อง
2. การแต่งตั้งคณะกรรมการ
ตามระเบียบฯ ข้อ 35 คณะกรรมการตาม ข้อ 34 แต่ละคณะให้ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และ กรรมการอย่างน้อย 2 คน โดยปกติให้แต่งตั้งจากข้าราชการตั้งแต่ระดับ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป ในกรณี จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการ จะแต่งตั้งบุคคลที่มิใช่ข้าราชการ ร่วมเป็นกรรมการด้วยก็ได้ ถ้าประธานกรรมการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้หัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งข้าราชการที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น ทำหน้าที่ประธานกรรมการแทน คณะกรรมการทุกคณะ เว้นแต่ คณะกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคา ควรแต่งตั้งผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับพัสดุหรืองานจ้างนั้น ๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย
3. วงเงินเท่าไหร่ ควรแต่งตั้งกรรมการกี่คน
ตามระเบียบฯ ข้อ 35 วรรคห้า สำหรับการซื้อหรือการจ้างในวงเงินไม่เกิน 10,000.-บาทจะแต่งตั้ง ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำคนหนึ่งซึ่งมิใช่ผู้จัดซื้อหรือจัดจ้างเป็นผู้ตรวจรับพัสดุหรืองานจ้างนั้น โดยให้ปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ หรือคณะกรรมการตรวจการจ้างก็ได้
4. การจัดซื้อ/จัดจ้าง กรณีพิเศษ
การซื้อ/การจ้างจากส่วนราชการหน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่น ซึ่งมีกฏหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ ในกรณี ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้ผลิตพัสดุหรือทำงานจ้างนั้นเอง และนายกรัฐมนตรีอนุมัติให้ซื้อหรือจ้าง
2. มีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ซื้อหรือจ้าง และกรณีนี้ให้รวมถึงหน่วยงานอื่นที่มีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดด้วย
5. การจำแนกประเภทไม่ถูกต้อง
วัสดุ โดยสภาพมีลักษณะสิ้นเปลือง หมดไป แปรสภาพ หรือไม่คงสภาพเดิม หรือคงทนถาวรและมีราคาต่อหน่วย หรือต่อชุด ไม่เกิน 5,000.-บาท
ครุภัณฑ์ โดยสภาพมีลักษณะคงทนถาวร มีอายุการใช้งานเกิน 1 ปีและมีราคาเกิน 5,000.-บาทต่อหน่วย หรือต่อชุด
6. การปิดอากรแสตมป์
การปิดอากรแสตมป์สัญญาจ้าง/ใบสั่งจ้าง ซึ่งต้องคำนวณจากจำนวนค่าจ้าง(ไม่รวมภาษี มูลค่าเพิ่ม) ในอัตรา 1,000.- ละ 1 บาท เศษไม่ถึง 1,000.- ให้คิดเป็น 1 บาท
กรณีค่าจ้าง ตั้งแต่ 200,000.-บาท ขึ้นไป ให้นำสัญญาไปสลักหลังตราสารเพื่อชำระค่าอากร
(แทนการปิดอากรแสตมป์)ที่สำนักงานสรรพากรก่อนทำสัญญา หรือภายใน 15 วัน นับแต่วันถัดจาก
วันทำสัญญา
7. การจัดซื้อ/จัดจ้าง ตามนัยข้อ 39 วรรค 2
- ไม่ใช่เป็นกรณีเร่งด่วนทุกเรื่อง
การซื้อ/การจ้างโดยวิธีการตกลงราคา ในกรณีจำเป็นและเร่งด่วน ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อน และไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทันให้เจ้าหน้าที่พัสดุ หรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ในการปฏิบัติราชการนั้น ดำเนินการไปก่อน แล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าส่วนราชการ และเมื่อ หัวหน้าส่วนราชการให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นหลักฐานการตรวจรับโดยอนุโลม
8. ระยะเวลาการตรวจรับ
กรณีเป็นการตรวจรับพัสดุที่จ้างทำซึ่งไม่ใช่งานจ้างก่อสร้าง ตามระเบียบ ฯ กำหนดให้ตรวจรับในวันที่ผู้รับจ้างนำพัสดุมาส่ง และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด อย่างช้าต้องไม่เกิน 5 วันทำการ นับแต่วันที่ ผู้รับจ้างนำพัสดุมาส่งมอบ ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวไม่รวมถึงระยะเวลาในการทดลอง หรือตรวจสอบทางเทคนิคหรือทางวิทยาศาสตร์
กรณีเป็นงานจ้างก่อสร้าง คณะกรรมการตรวจการจ้างจะต้องเร่งรัดดำเนินการตรวจการจ้างให้แล้วเสร็จไปโดยเร็วที่สุด และในแต่ละงวด(ยกเว้นงวดสุดท้าย) จะต้องไม่เกิน 3 วันทำการ และงวดสุดท้าย ไม่เกิน 5 วันทำการ การนับวันดำเนินการของคณะกรรมการตรวจการจ้างให้เริ่มนับถัดจากวันที่ผู้ควบคุมงานได้ดำเนินการแล้วเสร็จและรายงานให้ประธานกรรมการตรวจการจ้างทราบ ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจการจ้างไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดได้ ให้รายงานหัวหน้าสถานศึกษาพร้อมด้วยเหตุผลความจำเป็นพร้อมกับสำเนาแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบด้วย
9. การส่งมอบพัสดุ/งานจ้าง เกินกำหนดสัญญา
เมื่อครบกำหนดส่งมอบพัสดุตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้ส่วนราชการรีบแจ้งการเรียกค่าปรับ ตามสัญญา หรือข้อตกลงจากคู่สัญญา และเมื่อคู่สัญญาได้ส่งมอบพัสดุ ให้ส่วนราชการบอกสงวนสิทธิ์ การเรียกค่าปรับในขณะที่รับมอบพัสดุนั้นด้วย
10. การจัดทำราคากลาง
งานก่อสร้าง
จากข้อสังเกตของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทางโรงเรียนไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางในส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ได้ราคากลางเป็นราคาที่เป็นปัจจุบัน ทันเหตุการณ์และเป็นราคาในท้องถิ่น แต่ละแห่ง
ต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง และค่าภาษี ซึ่งแต่ละรายการจะมีข้อมูลที่จะนำมาใช้ ในการคำนวณราคากลางดังนี้
- ต้นทุน ได้แก่ ค่าวัสดุ และค่าแรงงาน
ส่วนกลาง ใช้ราคากรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
ส่วนภูมิภาค ใช้ราคาสำนักงานพาณิชย์จังหวัด
11. การตรวจสอบราคากลางงานก่อสร้าง
การประเมินงานก่อสร้าง โดยเปรียบเทียบบัญชีรายละเอียดงานก่อสร้าง กับราคากลาง
12. การจัดซื้อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ
กระทรวงการคลัง ได้กำหนดบัญชีราคากลางกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ใหม่ ซึ่งเป็นราคา
ที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน รายละเอียดตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนมาก ที่ กค 0408.2 / ว. 59 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2548
13. การตรวจสอบพัสดุประจำปี
- ไม่ได้จัดทำ
- ทำช้า เกินกำหนด
- ตรวจสอบไม่ละเอียด
- จำหน่ายไม่ถูกต้อง
การตรวจสอบพัสดุประจำปี ให้ถือปฏิบัติตาม
1. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ155 ,156
สรุป ก่อนสิ้นเดือน ก.ย.ทุกปี ให้ ผอ.สพท. ผอ.โรงเรียน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ พัสดุคนหนึ่งหรือหลายตามความจำเป็น เพื่อตรวจสอบการรับจ่ายพัสดุ งวด 1 ต.ค.ปีก่อน จนถึง 30 ก.ย.
ปีปัจจุบัน โดยเริ่มดำเนินการตรวจสอบ ในวันเปิดทำการวันแรกของเดือน ต.ค. เป็นต้นไป แลรายงานผล ภายใน 30 วันทำการ เมื่อมีพัสดุชำรุด เสื่อมสภาพ หรือสูญไป หรือไม่จำเป็นใช้ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงขึ้นคณะหนึ่ง กรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นการเสื่อมสภาพ เนื่องจากการใช้งาน หรือสูญไปตามธรรมชาติ ให้พิจารณาสั่งการให้ดำเนินการจำหน่าย และถ้าผลการพิจารณาปรากฏว่า จะต้องหาตัว ผู้รับผิดด้วย ให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
2. คำสั่งมอบอำนาจปฏิบัติราชการของ สพฐ. ที่ 22/2546 เรื่อง มอบอำนาจเกี่ยวกับพัสดุ
สรุป เลขา สพฐ.มอบอำนาจเกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำเอง การซื้อ การจ้าง การจ้างที่ปรึกษา การจ้างออกแบบและควบคุมงาน การแลกเปลี่ยน การเช่า การควบคุม การจำหน่าย และการดำเนินการ อื่น ๆ ที่กำหนดในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุของ เขตพื้นที่การศึกษาหรือสถานศึกษา แล้วแต่กรณี ให้ ผอ.สพท.และผอ.สถานศึกษา ปฏิบัติราชการแทน เลขา สพฐ. เต็มวงเงินที่เป็นอำนาจ
14.การเปลี่ยนแปลงรายการ
- ไม่เป็นไปตามสัญญา
ตามระเบียบฯ ข้อ 136 สัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือที่ได้ลงนามแล้ว จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง
มิได้ เว้นแต่การแก้ไขนั้นจะเป็นความจำเป็นโดยไม่ทำให้ทางราชการเสียประโยชน์ หรือเป็นการแก้ไข เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้ามีการเพิ่มวงเงิน จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือขอทำความตกลงในส่วนที่ใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือ แล้วแต่กรณี
15.การงดหรือลดค่าปรับ การขยายเวลาทำการตามสัญญา
- ขยายเวลา โดยไม่อิงระเบียบพัสดุ
- ไม่มีหลักฐาน
ตามระเบียบฯ ข้อ 139 การงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทำการตาม
สัญญา หรือข้อตกลงให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาได้ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริงเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
(1) เหตุเกิดจากความผิด หรือความบกพร่องของส่วนราชการ
(2) เหตุสุดวิสัย
(3) เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น